เปิด 'งบประมาณ-เงินกู้' รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐเหลือ 3.8 แสนล้าน อยู่ตรงไหนบ้าง?

เปิด 'งบประมาณ-เงินกู้' รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐเหลือ 3.8 แสนล้าน อยู่ตรงไหนบ้าง?

เปิด "งบประมาณ-เงินกู้" รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กระทรวงการคลังแจงเหลือ 3.8 แสนล้าน อยู่ในส่วนไหนบ้าง?

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในทุกเซ็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตของประชาชน ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบสู่การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รวมถึงภาคส่วนธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญภาวะหยุดชะงักชั่วขณะ จากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐเร่งดำเนินการคือ การจัดหาเงินเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19

โดยในห้วงเวลาที่ผ่านมา งบประมาณก้อนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 

ซึ่งเงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน หนึ่งในนั้นคือการออกมามาตรการเยียวยาต่างๆ ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 32-35 ล้านคน ทั้งกลุ่มอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เกษตรกร ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มบัตรคนจน รวมถึงยังมีการอัดงบเพื่อขยายมาตรการสู่เฟสใหม่

ล่าสุด น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงวงเงินเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ว่า ปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 7.6 แสนล้านบาท ทำให้เหลืออยู่ 2.4 แสนล้านบาท

ขณะที่งบประมาณอีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากงบกลาง ซึ่งโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อีก 1.39 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นนั้นมีอยู่ 9.9 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาใช้ไปเพียง 500 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณค่าใช้จ่ายที่บรรเทาโควิด-19 มีอีก 4 หมื่นล้านบาท ที่ปัจจุบันใช้ไปเพียง 3,200 ล้านบาท

ทั้งนี้รัฐบาลยังมีงบประมาณเหลือเพียงพอสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูดูแลเศรษฐกิจระลอกใหม่ โดยมีเงินเหลือเกือบ 3.8 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่เหลือจะถูกนำออกไปใช้ด้านใดนั้น จะต้องรอการพิจารณาในระดับนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งตามแผนเดิมหลังจบมาตรการเราชนะในวันที่ 31 พ.ค.64 กระทรวงการคลังจะมีการประเมินผล หากต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง ก็อาจนำโครงการคนละครึ่ง ระยะ 3 มาใช้ต่อ เพราะเป็นมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างดี

แต่เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเกิดการระบาดโควิด-19 อีกรอบ ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้งว่า ควรจะนำเม็ดเงินลงสู่ระบบเร็วหรือไม่