กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (19 เม.ย.64)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (19 เม.ย.64)

19-23 เมษายน: ฟื้นตัวต่อ หลังมาตรการ COVID-19 ไม่เข้มงวด

พลิกมามองบวกมากขึ้นจากการที่มาตรการคุม COVID-19 อยู่ในระดับที่ตลาดการเงินรับได้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-16 เมษายน) ดัชนี SET อยู่ในโหมด sideways down ตามที่เราคาดไว้ และ underperform ตลาดหุ้นโลก โดยสาเหตุหลักที่ฉุดตลาดหุ้นไทยคือการที่ COVID-19 กลับมาระบาดในประเทศไทยอีกระลอก ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง โดยในระหว่างสัปดาห์
ดัชนี SET ปรับลดลงไปใกล้กับ downside ในกรณีเลวร้ายที่สุดของเราที่ 1,510 จุด ซึ่งอิงจากสมมติฐาน earnings yield gap (EYG) เฉลี่ยสิบปีที่ 4.1%, อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปีที่ 2.0% และประมาณการ EPS กลางปี 2565 ของตลาดที่ 92.0 ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดกลับมาดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่รัฐบาลออกมาประกาศว่าจะไม่มีการ lockdown หรือประกาศ curfew ช่วงกลางคืน นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคโลกที่แข็งแกร่ง และราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นมาก็ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีขยับสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยจำกัด downside ของดัชนี SET ในสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับในสัปดาห์นี้ (19-23 เมษายน) เรามองบวกมากขึ้นกับแนวโน้มดัชนี SET และคาดว่าตลาดน่าจะฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าตลาดน่าจะยังผันผวนอยู่ เพราะต้องเผชิญกับแรงกดดันในระยะสั้นจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เร่งตัวขึ้นหลังวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ แต่เราเชื่อว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันของไทยน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการที่คนในตลาดเหมือนจะพอใจกับท่าทีของ ศบค. ที่ “ไม่ใช้มาตรการ lockdown และไม่ประกาศ curfew” ซึ่งจะทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่พอรับได้ ทั้งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่เร็วกว่าที่คาดไว้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดรอบล่าสุด สำหรับปัจจัยภายนอก ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นแรง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทรงตัว และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็เอื้อต่อภาวะตลาดหุ้น EM โดยรวม

ติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการของหุ้นในตลาดโลก, มาตรการกระตุ้นของไทย และผลประกอบการ 1Q64 ของกลุ่มธนาคาร

(+) ภาวะเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการที่ประกาศออกมายังดูดีอยู่ เมื่อพิจารณาจากหัวข้อข่าวของ CNBC และ FactSet ผลประกอบการ 1Q64 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐเท่าที่ประกาศออกมาแล้วโตถึงกว่า 30% YoY และบริษัทมากกว่า 80% ที่ส่งงบแล้วมีผลประกอบการดีกว่าประมาณการ เรามองว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐวิ่งขึ้นต่อได้ และหนุนภาวะตลาดหุ้นโลก ส่วนในยุโรป นักลงทุนควรติดตามตัวเลข Market flash PMIs เดือนเมษายนที่จะออกมาในวันที่ 23 เมษายน ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่แสดงโมเมนตั้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ EU

(0/+) กระแสข่าวเรื่องการออกมากตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม ในวันที่ 20 เมษายน รัฐบาลจมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดพิเศษเพื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจล่าสุดหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการที่ COVID-19 กลับมาระบาดอีกระลอก เราเชื่อว่าวาระการประชุมหลักคือแพคเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงการคลัง ประเทศไทยยังมีงบเหลืออีก 3.80 แสนล้านบาทที่สามารถใช้อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้ (2.40 แสนล้านบาทจาก พรบ. เงินกู้ 1.0 ล้านล้านบาท, 1 แสนล้านบาทจากงบกลาง และอีก 4 หมื่นล้านบาทจากงบเยียวยา COVID รอบก่อน)

(0) ผลประกอบการ 1Q64 ของกลุ่มธนาคาร ในสัปดาห์นี้ ธนาคารไทยส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดถึงกำหนดประกาศงบ 1Q64 โดยนักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารของเราคาดว่ากำไรสุทธิของทั้งกลุ่มจะเพิ่มขึ้น 9% QoQ เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ตั้งสำรองเอาไว้สูงใน 4Q64 แต่จะลดลง 23% YoY เพราะ NIM ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังควรต้องติดตามดูว่าการที่ COVID-19 กลับมาระบาดรอบนี้จะทำให้ธนาคารต่าง กลับมาตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูงอีกหรือไม่

ซื้อสะสมหุ้นกลุ่มที่เคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ และหุ้นในธีม re-opening

เนื่องจากเรามองว่าดัชนี SET น่าจะฟื้นตัวได้ เราจึงแนะนำให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ และหุ้นในธีม re-opening โดยในกลุ่มการพาณิชย์ เรามองว่า CPALL*และ HMPRO* เป็นหุ้นที่เหมาะซื้อสำหรับถือยาว ในขณะที่มองว่า GLOBAL* เป็นหุ้นสำหรับเก็งกำไรในระยะสั้นจากแนวโน้มผลประกอบการ 1Q64 ที่แข็งแกร่ง และความเป็นไปได้ที่จะมีการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคออกมาอีก ส่วนหุ้นในธีม re-opening เราคิดว่าที่ระดับราคาปัจจุบัน AOT และ CPN เริ่มจะดูน่าสนใจ สำหรับหุ้นกลุ่ม cyclical เรายังชอบหุ้นปิโตรเคมีอย่างเช่น IVL* และ PTTGC* จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการ 1Q64 ที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง