ยอดลงทุนนิคมฯ 6 เดือนพุ่งแสนล้าน แต่จ้างงานหด 42%

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) กนอ. เปิดเม็ดเงินลงทุน 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 พุ่งกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ยังมีการลงทุนสูง

กนอ. เปิดเม็ดเงินลงทุน 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 พุ่งกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ยังมีการลงทุนสูง แต่การจ้างงานลดลง 42% จากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาใช้กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น เดินหน้าแผนธุรกิจปี 64 ยกระดับผลผลิตภัณฑ์บริการรองรับการลงทุนรูปแบบใหม่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง


นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63- มี.ค.64) มีมูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 78,758.09 ล้านบาท (มูลค่าการลงทุนงบประมาณปี 2563 ช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 27,388.47) หรือคิดเป็น 287.56%

ทั้งนี้ การลงทุนเป็นผลจากการแจ้งเริ่มผลประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องและขยายการลงทุนเพิ่ม ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการขยายการลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ยังคงมีการลงทุนมากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสของปี 2564 เช่นกัน ขณะที่มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,655 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนหน้า 42% เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโดยเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น

สำหรับการขาย/ให้เช่าที่ดินในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ในภาพรวมประมาณ 473.75 ไร่ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ประกอบการซื้อ/เช่าประมาณ 1,398.84 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.13 แบ่งเป็นการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 394.42 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 79.33 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ในภาพรวมจะชะลอการลงทุนอยู่บ้าง เนื่องมาจากการระงับเดินทางข้ามประเทศชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถจูงใจการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้

ประกอบกับความพร้อมของพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน จำนวน 62 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ และในเร็วๆนี้ จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ซึ่งมีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.แล้ว และรอการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม 177,890 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่า 118,362 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 90,657 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 27,706 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.69 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 5,080 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 548,682 คน


ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.94% ยังคงครองแชมป์การลงทุน รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.69% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.95% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.2%อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ 5.99 % โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16 % อเมริกา 6.79 % สิงคโปร์ 6.78 % และไต้หวัน 4.11 %


อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 กนอ.มีแนวทางยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมให้สามารถขับเคลื่อนภาคการผลิต โดยเพิ่มศักยภาพการให้บริการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งเป้าให้ทุกนิคมก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) โดยการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูล (Cloud Digital Server) การขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค (Digital Meter) รวมถึงบริการต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรเพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการ

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมโดยการส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ(Smart Eco) เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์การค้าโลกได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กนอ.ได้ยกระดับมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งในการให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบในตลาดโลก รวมทั้งยังร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมฯ ปรับปรุงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกด้วย