"4พรรคเล็ก" ขอ "วิปรัฐบาล" ถกทิศทาง "แก้รัฐธรรมนูญ"

"4พรรคเล็ก" ขอ "วิปรัฐบาล" ถกทิศทาง "แก้รัฐธรรมนูญ"

แกนนำพรรคพลังท้องถิ่นไท แนะ "วิรัช" ตั้งประเด็นถกในวิปรัฐบาล หาคนกลางประสาน ส.ส.-ส.ว. หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้จริง "4พรรคเล็กร่วมรัฐบาล" จ่อหารือถึงทิศทางหนุนญัตติ ของฝั่งใด

       นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ให้สัมภาษณ์ ว่า ในกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก อาทิ พรรคพลังท้องถิ่นไท, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พรรคชาติพัฒนา, พรรคเศรษฐกิจใหม่ เตรียมนัดหมายเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ขณะนี้มีญัตติของพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเสนอ และ 3พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมยื่นญัตติเช่นกัน อย่างไรก็ดีความเห็นส่วนตัวมองว่าความสำเร็จของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้ ต้องได้รับความเป็นเอกภาพ หรือ ได้รับฉันทามติของพรรคร่วมรัฐบาล และได้เสียงเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงได้เสียงสนนับสนุนจาก ส.ว. 84 เสียง
       “คณะกรรมการประสานงานนพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ควรหารือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน เหมือนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก เพื่อหารือถึงประเด็นที่เห็นร่วมกัน  เพื่อไม่ให้เสียงแตก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญผมมองว่าเป็นภารกิจร่วมกันของส.ส. เพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้นการเสนอแก้ไขจำเป็นต้องมีคนกลาง เพื่อคุย กับส.ส.​ และ ส.ว. เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด” นายโกวิทย์ กล่าว
       เมื่อถามว่ากลุ่มพรรคเล็กจะสนับสนุนญัตติของพรรคพลังประชารัฐหรือของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายโกวิทย์  กล่าวว่าขอรอฟังท่าทีขอรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งใจตนต้องการให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล ยกประเด็นเพื่อหารือกันในที่ประชุมวิปรัฐบาล ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ถึงทิศทาง และจุดร่วม ส่วนกรณีที่ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐจะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแล้ว ตนมองว่าไม่เป็นปัญหา เพราะในขั้นตอนยังมีรายละเอียดที่สามารถแปรญัตติในวาระพิจารณาได้
       เมื่อถามว่าหากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ต้องแก้รายมาตราหรือแก้ไขทั้งฉบับ นายโกวิทย์ กล่าวในความเห็นส่วนตัวว่า หากพิจารณาตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การแก้รายมาตราสามารถเป็นไปได้ ต้องอาศัยความเห็นพ้องร่วมกันของส.ส. และเสียงสนับสนุสของส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 เสียง   แต่หากคิดแก้รัฐธรรมนูญตามกระแส หรือเพื่อสร้างกระแสเท่านั้น การแก้ไขรัฐธธรรมนูญไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แม้การยื่นญัตติจะเป็นสิทธิของส.ส.แต่ละพรรค แต่การได้ผลสำเร็จต้องอาศัยเสียงและความเห็นร่วมของรัฐสภา.