‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.20บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.20บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินกลับมาฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ในสัปดาห์นี้ควรจับตาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และโฟลว์จ่ายปันผลในสัปดาห์นี้ ไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท กดบาทอ่อนค่าลงได้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.20 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 31.05 - 31.55 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน

ในสัปดาห์นี้ ควรจับตาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึง การพิจารณาอนุมัติใช้วัคซีนAstraZenecca และ Johnson&Johnson ที่คาดว่าจะได้บทสรุปช่วงสุดสัปดาห์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ควรจับตา 3 ประเด็นหลัก 1. ทิศทางเงินดอลลาร์ โดย เราคาดว่า เงินดอลลาร์อาจทรงตัวหรืออ่อนค่าลง หากสถานการณ์การระบาดในสหรัฐฯ ไม่ได้เลวร้ายลง นอกจากนี้ การอนุมัติใช้วัคซีน AZ, J&J อีกครั้งจะยิ่งช่วยเร่งการแจกจ่ายวัคซีนและหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาพดังกล่าวจะลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์

2. สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในไทย โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนสูงขึ้นและเคลื่อนไหวสวนทางเงินดอลลาร์ หากตลาดกังวลการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

และ 3. แรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราคาดว่าจะมีโฟลว์จ่ายปันผลในสัปดาห์นี้ ไม่น้อยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ตามโฟลว์จ่ายปันผลดังกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้

ในฝั่งสหรัฐฯการเร่งแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวแข็งแกร่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายนที่ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60 จุด และ 61 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัวของภาคการผลิตหรือการบริการ)

ขณะเดียวกันยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ก็มีแนวโน้มจะลดลงสู่ระดับ 5.5 แสนราย สะท้อนถึงภาวะการจ้างงานที่ดีขึ้น นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาทิ Netflix และ Intel เป็นต้น ซึ่งผลประกอบการที่ดีกว่าคาดและมีแนวโน้มเติบโตที่ดีจะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On)

ส่วนในฝั่งยุโรปธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป โดย ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% พร้อมกับเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี)

ทั้งนี้ ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ได้สะดุดลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 หลัง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายน จะทรงตัวที่ระดับ 62.2 จุด และ 49.9 จุด ตามลำดับ

ทางด้านฝั่งเอเชียการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้รับแรงหนุนจากยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมีนาคมที่จะโตกว่า 11% จากปีก่อนหน้า ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เริ่มสะดุดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ที่ระดับ3.50% และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยหากจำเป็น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ส่วนในฝั่งจีน เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Loan Prime Rate) อายุ 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ได้ ตามลำดับ

และในฝั่งไทยแม้ว่า ยอดการส่งออกในเดือนมีนาคมจะหดตัวราว 1.5% จากปีก่อน และยอดนำเข้าอาจโตกว่า 5% ทว่า ดุลการค้ายังมีโอกาสที่จะเกินดุลกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุลเพียง 7 ล้านดอลลาร์