กักตัว หมอ-พยาบาลห้องผ่าตัด รพ.อุดรฯ นับร้อยคน

กักตัว หมอ-พยาบาลห้องผ่าตัด รพ.อุดรฯ นับร้อยคน

กักตัว หมอ-พยาบาลห้องผ่าตัด รพ.อุดรฯ นับร้อยคน หลังมีคนไปติดเชื้อในสถานบันเทิงทำให้ห้องผ่าตัดทำงานได้ไม่เต็มที่ จังหวัดเตรียมหาโรงพยาบาลสนามเพิ่ม

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าฯ อุดรธานี พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี ว่าอุดรธานีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 24 ราย สะสม 166 รายรักษาหายแล้ว 1 ราย และคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้ออกมาตรการบังคับควบคุม และมาตรการของความร่วมมือ มีผลบังคับใช้ 19 เม.ย.-2 พ.ค.64

นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า ในการค้นหาผู้ติดเชื้อจากไทม์ไลน์ ด้วยวิธีตรวจเชื้อ 2 ลักษณะ รวมมากกว่า 760 ราย และการค้นหารุกในพื้นที่เสี่ยง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 24 ราย สะสม 166 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ขณะไทม์ไลน์ของเมื่อวันที่ 17 เม.ย. พบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใหม่จากกรุงเพทฯ 1 ราย รวมแล้ว 25 ราย ที่เหลือติดเชื้อในครอบครัว,ญาติพี่น้อง,คนใกล้ชิด,เพื่อน,สถานที่ทำงาน ที่ไปเกี่ยวโยงกับสถานบันเทิงจากกรุมเทพฯ มาสถานบันเทิงอุดรฯย่านไฮเทค คือ โฟบาร์-มุมแรด-ทางของฝุ่น-เอกมัย และตะวันแดง แนวโน้มการระบาดอยู่ภายใน โดยการรวมกลุ่มมีกิจกรรม กิน-ดื่ม ตามบ้าน ห้องพัก สถานที่อื่น ๆ

พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า รพ.ศูนย์อุดรธานี มีบุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนห้องผ่าตัดต้องกักตัว 100 คน เป็นเสี่ยงสูง 17 คน ที่เหลือเสี่ยงกลางและเสี่ยงต่ำ เกิดจากคนของเราไปติดเชื้อ ในสถานบันเทิงของอุดรธานี ทำให้ห้องผ่าตัดทำงานได้ไม่เต็มที่ มีความจำเป็นต้องลดงานบางส่วน คือ เลื่อนการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนไปจนถึงสิ้น เม.ย.นี้,เลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งไป 1 สัปดาห์ส่วนการผ่าตัดเร่งด่วน และมีความจำเป็น อย่างกรณีอุบัติเหตุ หรือปัจจุบันทันด่วนยังทำอยู่

“สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ใน รพ.ศูนย์อุดรฯรวม 125 เตียง ที่รับเข้ามาตรวจรักษาแล้ว จะได้รับการประเมินว่าอาการดีขึ้น จะถูกส่งไปโรงพยาบาลชุมชนต่างอำเภอ จะมีเตียงรองรับอีกราว 300 เตียง ซึ่งคณะแพทย์ของ รพ.ศูนย์ฯ ยังติดตามประเมินต่อเนื่อง เมื่อวานส่งไป 11 ราย วันนี้ส่งไปอีก 18 ราย ผู้ป่วยทุกคนพอใจในการย้ายไป การย้ายไป รพ.สนาม จะเกิดขึ้นเมื่อ รพ.รับไว้เต็มหมดแล้ว ขณะที่มีผู้ป่วย 2 ราย ขอย้ายออกไปที่ รพ.เอกชนในพื้นที่ เราก็พร้อมเมื่อโรงพยาบาลรับ ขณะนี้ รพ.ศูนย์อุดรธานีมีผู้ติดเชื้อรักษาอยู่ 102 ราย” พญ.ฤทัย กล่าว

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อ พิจารณา “โรงพยาบาลสนาม” ที่หอพัก มรภ.อุดรธานี (สามพร้าว) 218 ห้อง,โกดังคลังสินค้ายักษ์ 9,100 ตรม.เบื้องต้นได้ออกแบบรองรับ 500 เตียง พร้อมพื้นที่นันทนาการ และโรงแรมวีธรา ถ.อุดรดุษฎี เทศบาลนครอุดรธานี จะใช้เป็นสถานที่กักตัว ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่ในสภาพเป็นผู้เสี่ยงสูง จากบุคคลากรในห้องผ่าตัดติดเชื้อ มีอุปสรรคจะกลับไปกักตัวที่บ้านได้ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เร็วที่สุด โดยนายณณชัย ฑีฆธนานนท์ เจ้าของยินดีให้ใช้ เตรียมส่งมอบสถานที่ให้ภายวัน 1-2 วันนี้

ผู้ว่าฯ อุดรธานี กล่าวว่า วันนี้ คกก.โรคติดต่อ จ.อุดรธานี ให้ออกมาตรการเพิ่มเติม ให้สอดรับกับพื้นที่เราเอง ประกอบด้วย มาตรการบังคับ

  1. ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียน และสถาบันการศึกษาทุกประเภท
  2. ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน
  3. ปิดสถานบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ กิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
  4. รับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้ในร้านไม่เกิน 18.00 น. โดยร้านขายได้ถึง 23.00 น. และซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น.
  5. การจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่าย ห้ามบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  6. ห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึง เวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดให้บริการตู้เกมเครื่องเล่นร้านเกม และสวนสนุกทั้งในและนอกอาคาร
  7. ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง เปิดได้ไม่เกิน 23.00 น.ร้านที่เปิด 24 ชั่วโมงให้เปิดได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น.ถึง 23.00 น.
  8. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อออกกำลังกายเปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้งดการออกกำลังกายในลักษณะกลุ่มทุกประเภท
  9. งดกิจกรรมสังสรรค์งานเลี้ยงงานรื่นเริง

มาตรการของความร่วมมือ คือ

  1. งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม สังสรรค์ (ให้รวมกลุ่มสังสรรค์ได้เฉพาะคนในครอบครัว)
  2. เข้มงวดการบังใช้กฎหมาย หากพบเห็น ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงไม่ยอมกักตัว ผู้ใกล้ชิด ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ให้ข้อมูล ขอความร่วมมือแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ( ผอ.รพ.สต.,กำนัน,ผญบ.,ผช.ผญบ.,แพทย์ประจำตำบล,สารวัตรกำนัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย