เปิดผลสำรวจ 200 CEO เร่งรัฐฉีด 'วัคซีน' หยุด 'โควิด-19'

เปิดผลสำรวจ 200 CEO เร่งรัฐฉีด 'วัคซีน' หยุด 'โควิด-19'

200 ซีอีโอจี้รัฐเร่งกระจาย "วัคซีน" ทั่วประเทศ 92% ระบุประเทศจะรอด "โควิด-19" รัฐ-เอกชนต้องจัดการร่วมกัน แนะเปิดเสรีนำเข้าวัคซีน 83% ชี้ไทยไม่พร้อมเปิดประเทศ แนะเปิดเมืองท่องเที่ยวก่อน รับผู้มีวัคซีนพาสปอร์ต

161882736314

"กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภค บริโภค ไอทีดิจิทัล ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ กับ วัคซีน ทาง “รอด” และความพร้อมในการ “เปิดประเทศ”

ขณะที่สถานการณ์ยัง “สาหัส” ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันแตะหลักพันราย มาตรการที่ภาครัฐเลือก คือ ไม่ประกาศ “ล็อกดาวน์” แต่เลือกคุมเข้มรายจังหวัดกึ่งเคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยการสำรวจระหว่างวันที่ 7 เม.ย-16 เม.ย.2564

ผลสำรวจ พบว่า ซีอีโอเกือบ 60% มีความกังวลมากต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกล่าสุดในประเทศไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจโดยภาพรวม ซีอีโอ 86.9% เห็นว่า รัฐบาลควรใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ โดยเห็นด้วยกับวิธี “เปิดเสรีให้เอกชน นำเข้าวัคซีน” เพื่อเป็นทางเลือกการกระจายวัคซีนที่เร็ว รองลงมา 83.9% ระบุว่า รัฐต้องเร่งแผนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด 

ขณะที่ 63.8% เห็นด้วยว่า การตัดสินใจล็อกดาวน์บางพื้นที่ บางกิจการ ที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงทันทีของรัฐช่วยควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงได้ ขณะที่ต้องกำหนดบทลงโทษเฉียบขาด สำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการระบาด

เมื่อถามย้ำว่า รัฐควรเปิดให้ “เอกชน” นำเข้าวัคซีนเสรีหรือไม่ ซีอีโอ 66.8% ระบุว่า ควรเปิดกว้างให้เอกชนนำเข้าวัคซีน โดยมีเงื่อนไขเฉพาะภายใต้ระเบียบปฏิบัติของรัฐ รองลงมา ซีอีโอ 48.2% ย้ำว่า อยากเห็นรัฐทั้ง “ส่งเสริม” และ “เปิดกว้าง” อย่างจริงใจเพื่อให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โดย ซีอีโอ เกินครึ่ง หรือราว 56.1% มีความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐ “น้อยมาก” 

  • ไม่เชื่อมั่นรัฐบริหารวัคซีน  

แผนบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามถึงความ “ล่าช้า” เมื่อถามความเห็นซีอีโอถึงความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการวัคซีนในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดของภาครัฐ ซีอีโอ มากกว่า 50% มีความเชื่อมั่นในระดับที่ “น้อยมาก” มีเพียง 5%เท่านั้นที่ตอบว่า เชื่อมั่นการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐในระดับดีมาก

ขณะที่ ความเห็นต่อแผนการกระจายวัคซีนในประเทศไทยในขณะนี้ ซีอีโอกว่า 62% ระบุว่า แผนกระจายวัคซีนในประเทศ “ช้ามาก” จากการที่รัฐบริหารจัดการไม่เป็นระบบ รองลงมา เกือบ 40% เห็นว่า รัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการวัคซีน 

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลควร “เปิดกว้างนำเข้าวัคซีนจากหลายผู้ผลิต” เพื่อให้เกิดทางเลือก และความคล่องตัวในการบริหารการจัดการวัคซีนในประเทศหรือไม่ ซีอีโอ 87.4% เห็นว่า รัฐควรเปิดกว้างนำเข้าวัคซีนจากหลายผู้ผลิต เพื่อให้เกิดทางเลือก และความคล่องตัวในการบริหารการจัดการวัคซีนในประเทศ ขณะที่ 12.6% เห็นว่า รัฐไม่ควรเปิดกว้าง แต่เน้นเลือกผู้ผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ผลข้างเคียงน้อย

161882740453

  • จี้รัฐต้องร่วมเอกชนบริหารวัคซีน

ส่วนคำถามที่ว่า ปัจจัยอะไรที่ช่วยสนับสนุนให้แผนกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซีอีโอ 92% ระบุว่า รัฐต้องร่วมมือภาคเอกชนในการบริหารจัดการ รองลงมา 63.3% แนะว่ารัฐต้องนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ ขณะที่ 59.8% ระบุว่า ต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร สถานที่การฉีดวัคซีน ให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการฉีดวัคซีนกับประชาชนต่อเนื่อง 

รวมถึงการบริหารด้านโลจิสติกส์ เครื่องมืออุปกรณ์ เตรียมความพร้อมกรณีเกิดผลข้างเคียง ซึ่งซีอีโอบางส่วนไม่มั่นใจว่าปัจจุบันไทยมีวัคซีนพอสำหรับประชาชนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า มีความเชื่อมั่น “วัคซีน” ที่ประเทศไทยนำเข้ามา เพื่อฉีดให้ประชาชนในประเทศหรือไม่ ซีอีโอเกินครึ่ง หรือราว 59.8% บอกว่า “เชื่อมั่น” รองลงมา 41.2% บอกไม่เชื่อมั่น ส่วนความพร้อมในการฉีด ซีอีโอกว่า 56.8% พร้อมฉีดวัคซีน แต่กังวลเรื่องผลข้างเคียง และมีซีอีโอราว 15% ระบุว่า “ไม่เชื่อมั่น” ในประสิทธิภาพของวัคซีน

  • คนไทยต้องมีสิทธิเลือกวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของวัคซีน ซีอีโอส่วนใหญ่ มองว่า การนำเข้าวัคซีนที่หลากหลาย นับเป็นตัวเลือก ช่วยป้องกันความกังวลโควิด-19ได้ ดังนั้นไทยควรมีทางเลือกของวัคซีนมากกว่านี้ และประชาชนควรมีสิทธิเลือกในการวัคซีน 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรเลือกนำเข้าวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงมาเป็นทางเลือก ไม่ใช่เน้นเฉพาะราคา เพราะสิ่งสำคัญที่ประชาชนจะรอด ประเทศจะเปิดได้เร็ว ไทยต้องได้ฉีดวัคซีนชนิดที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ฉีดแล้วยังกลายเป็นคนแพร่เชื้อได้อีก

ซีอีโอบางราย ระบุว่า พร้อมฉีดวัคซีนทันที เมื่อวัคซีนชนิดนั้นได้รับรองผลจากนานาชาติ และโรงพยาบาลเอกชนเป็นคนนำเข้า ขณะที่อีกความเห็น มองว่า การตัดสินใจฉีดวัคซีนถือเป็นการสร้างความสบายใจในเบื้องต้น และเชื่อว่าช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้

  • ไทยไม่พร้อมเปิดประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อถาม “ความพร้อมในการเปิดประเทศของไทย” ซีอีโอมากกว่า 83% เห็นว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดประเทศ  แต่ถามต่อว่า หากต้องตัดสินใจเปิดประเทศ เพื่อปลุกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน มองว่ารัฐควรมีแผนในการเปิดประเทศอย่างไร ซีอีโอส่วนใหญ่ 76.8 % แนะว่าควรเปิดเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และมีมาตรการควบคุม คัดกรองอย่างเข้มงวด รองลงมา 34.8% แนะควรเปิดเฉพาะพื้นที่ ตามโซน หรือในจังหวัดที่คุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ขณะที่ มีซีอีโอไม่ถึง 5% ที่บอกว่าให้เปิดประเทศแบบ 100% ไปเลย

ส่วนความคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น ไทยยังไม่ควรเปิดประเทศ ถ้ายังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 70% หรืออาจเปิดแบบจำกัดจำนวนคนเข้า เน้นผู้ที่มีพาสปอร์ตวัคซีนยืนยัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรมี “มาตรการเพิ่มเติม” ลักษณะใด เพื่อดำเนินการควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ ซีอีโอกว่า 84% ระบุว่า เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรในประเทศให้เร็วที่สุด รองลงมา 72.4% คัดกรองคนเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มข้น เช่น ต้องมีผลตรวจโควิดยืนยัน (วัคซีน พาสปอร์ต) หรือ ต้องมีการกักตัว

  • งัดแผนรับมือ ‘เร่งรักษาสภาพคล่อง’

วิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวมามากกว่า 1 ปี ในประเทศไทย ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับความเสี่ยง และรับมือความท้าทายของโลกในอนาคต ซีอีโอเกินครึ่ง หรือราว 64.1% ระบุว่า เน้นการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ และตุนกระแสเงินสด รองลงมา 58.1% มองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 55.6% เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ 

นอกจากนี้ ยังเน้นไปที่ การลดขนาดองค์กรให้เล็กลง ยึดหลักการบริหารแบบ Agile สร้างสมดุลกลยุทธ์ทางธุรกิจทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รุกแพลตฟอร์มการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมถึงกระจายความเสี่ยงสู่การดำเนินธุรกิจหลากหลาย

  • หนุนต่ออายุมาตรการเยียวยา

ซีอีโอ ยังได้ประเมินภาพรวมจีดีพีของครึ่งปีแรก 2564 โดยมากกว่า 49.2% เชื่อว่า จีดีพีจะติดลบ 5-7% และราว 16.6% เชื่อว่า จีดีพีจะโตบวก 4-5%

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรต่ออายุ “มาตรการเยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด เช่น เราชนะ เรารักกัน คนละครึ่ง ฯลฯ ไปอีกสักระยะหรือไม่ ซีอีโอ 33.3% เห็นว่า ควรต่ออายุออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2564 รองลงมา 21.2% ระบุว่า ควรต่ออายุทุกมาตรการจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ หรือต่ออายุออกไปอีก 3-4 เดือน

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเพิ่มเติม ระบุว่า รัฐบาลควรดูตามสถานการณ์ เพราะมาตรการเหล่านี้ กระตุ้นได้ในช่วงสั้น แต่ไม่มีความยั่งยืน ควรเน้นแผนที่มีความยั่งยืนมากกว่าการแจกเงิน

ทั้งนี้ ซีอีโอ มากกว่า 45% ระบุว่า มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่รัฐบาลทยอยออกมา ไม่มีผลต่อรายได้หรือยอดขายของธุรกิจ ขณะที่ 28.4% ระบุว่า รายได้เพิ่มบ้างเล็กน้อย  

  • เสนอมาตรการช่วยทุกกลุ่ม

สำหรับข้อเสนอแนะในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซีอีโอ มีข้อเสนอแนะ เช่น ให้รัฐเร่งช่วยผู้ประการรายเล็กและรายกลางโดยการเพิ่มวงเงินให้สภาพคล่อง และออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตามจังหวัดที่พร้อมโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว

ที่สำคัญต้องควบคุมสถานการณ์การระบาดเร่งด่วน ไม่ปกปิดความจริง เร่งสร้างความแข็งแรง ความปลอดภัยภายในประเทศ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา ให้มาตรการเอื้อการฟื้นธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นทางด้านการเงิน เพื่อให้ธุรกิจมีโอกาสประคองพลิกฟื้นให้ได้มากที่สุด รวมถึงภาคธุรกิจระดับย่อม ขณะที่แผนป้องกันการระบาดต้องเข้มงวดจากนี้ไป