‘หน้ากากผ้า–หน้ากากอนามัย’เกราะป้องกันโรค ย้ำสวมถูกวิธี ไม่เปียกชื้น

‘หน้ากากผ้า–หน้ากากอนามัย’เกราะป้องกันโรค ย้ำสวมถูกวิธี ไม่เปียกชื้น

​กรมอนามัย แนะประชาชนให้สวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน โดยสวม "หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย" ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง แต่ต้องสวมให้ถูกต้อง ถูกวิธี และต้องสะอาดไม่เปียกชื้น สร้างเกราะป้องกันตนเองและสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับคนรอบข้าง

จากกรณีที่มีการแชร์เรื่องการ สวมหน้ากากนานเกินไปอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนนั้นไม่เป็นความจริง ประชาชนสามารถสวม"หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย"ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง โดยไม่ทำให้ขาดออกซิเจน เนื่องจาก "หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย"จะมีช่องให้ลมเข้าออกทางด้านข้างของใบหน้าได้

  • ประชาชนสวมใส่ "หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย"ได้หลายชั่วโมง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี "กรมอนามัย" เปิดเผยว่า ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์โรค "โควิด-19" ระลอกใหม่ ยังคงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนไม่ประมาท "การ์ดอย่าตก" ด้วยการ "สวมหน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย"ทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และต้องรักษาความสะอาดและใช้ให้เหมาะสม

หากเกิดการฉีกขาด ใส่แล้วไม่กระชับหรือไม่คลุมจมูกและใต้คาง เปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือเปียกน้ำให้เปลี่ยนใหม่ทันที และควรมีหน้ากากสำรองไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันตนเองและสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับคนรอบข้างในการพบปะพูดคุยกับผู้อื่น

  • แนะวิธีเลือก "หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย"ที่เหมาะสม

ห้ามสวมหน้ากากทุกชนิดในขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรงและเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและ หลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะหากเด็กหายใจไม่เพียงพอหรือเกิดความผิดปกติขณะหายใจ เด็กจะไม่สามารถดึงหน้ากากออกจากหน้าเองได้ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีการเลือกหน้ากากที่เหมาะสมนั้น ต้องเลือกขนาดให้เหมาะกับใบหน้า สวมให้คลุมทั้งจมูกและใต้คาง ในกรณีที่เป็น "หน้ากากผ้าให้เปลี่ยนทุกวันหรือเปลี่ยนเมื่อรู้สึกเปียกชื้น ในระหว่างวัน เมื่อกลับถึงที่พักให้ซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอก และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้ในครั้งต่อไป

  • ย้ำสวม "หน้ากากผ้า-หน้ากากอนามัย" ไม่ควรเลื่อนมาไว้ใต้คา

ส่วนการสวม "หน้ากากอนามัย" ที่ถูกต้องนั้น ให้หันด้านที่มีสีหรือบานพับคว่ำไว้ด้านนอกและหันด้านที่ไม่มีสีหรือบานพับ หงายเข้าหาใบหน้า ซึ่งจะมีลักษณะพื้นผิวนุ่มกว่า เพื่อดูดซับเหงื่อ น้ำมูก น้ำลายจากการ ไอ จาม โดยให้ขอบที่มี แถบลวดอยู่ด้านบน กดแถบลวดให้แนบสันจมูก และดึงหน้ากากให้คลุมถึงใต้คาง

เมื่อสวมแล้วไม่ควรเลื่อนมาไว้ใต้คางเพราะจะทำให้หน้ากากเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค ในกรณีที่ต้องการพูด ดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหาร ไม่ควรดึงหน้ากากมาไว้ใต้คางเช่นเดียวกัน แต่ให้ถอดเก็บไว้ในถุงหรือซองพกพาที่สะอาด

สำหรับวิธีกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วนั้น ประชาชนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมและหลังทิ้งหน้ากาก