'สศช. 'รับมือเศรษฐกิจฟื้นแบบ 'รูปตัว K ' ดันมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม

'สศช. 'รับมือเศรษฐกิจฟื้นแบบ 'รูปตัว K ' ดันมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม

รัฐบาลประคองเศรษฐกิจฟื้นรูปตัว ‘K’ สศช.เสนออัดมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม ระยะยาวปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ย้ำจีดีพี 4% ต้องดันส่งออก หนุนเงินกู้ลงชุมชน 4.5 หมื่นล้านบาท "ทีดีอาร์ไอ" ชี้ส่งออกฟื้นเร็วแต่ห่วงท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า

การฟื้นตัวในรูปแบบตัว “K” หรือ “K-Shaped Recovery” ที่มีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับได้เร็ว และกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยเหมือนกับตัวอักษร “K” ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้นและลง ซึ่งเป็นความยากในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทำให้ทุกส่วนฟื้นตัวพร้อมกัน หลังจากการเกิดวิกฤติโควิด-19

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจเป็นรูปตัว K เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังจับตามองอยู่และเห็นว่าแนวโน้มที่จะเป็นการฟื้นตัวในลักษณะนั้น คือ บางธุรกิจ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเติบโตดีมาก แต่บางบางธุรกิจยังยากลำบากไปต่อได้ยาก และต้องการได้รับความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการแก้ไขและให้การช่วยเหลือส่วนที่เป็นขาของตัว K ที่ชี้ลงข้างล่างอย่างเช่นมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยพยุงการจ้างงานด้วย

“มาตรการรัฐพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เกิดการฟื้นตัวแบบตัว K แต่ยอมรับว่าการช่วยเหลือทำได้ในระดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ระยะยาวคงช่วยทุกธุรกิจไม่ได้ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากและปรับตัวไม่ได้อาจต้องมองแง่การจ้างแรงงาน สร้างงาน เราจะดึงบริษัทใหญ่ที่เป็นอนาคตมาและปรับทักษะให้ หรือปรับปรุงอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบช่วงวิกฤติ เช่น ภาคท่องเที่ยวต้องปรับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ดึงผู้ที่มีกำลังใช้จ่ายเข้าประเทศมากขึ้น จะเป็นอีกทางที่ช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย”

ทั้งนี้ ระยะต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นในลักษณะตัว K คือ มีอุตสาหกรรมที่เติบโตได้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ที่เป็นเทรนด์อนาคตที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น

เข็นจีดีพีขยายตัว4%

สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 รัฐบาลได้ตั้งเป้าในการขยายตัวไว้ที่ 4% ซึ่ง สศช.ได้รายงานในศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศบศ.) แล้วว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2564 ให้ขยายตัวถึง 4% ตามเป้าหมายให้การส่งออกเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ ต้องให้น้ำหนักภาคการส่งออกมากเพราะคิดเป็นสัดส่วน 40% ของจีดีพี ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจึงเป็นปีที่ภาคการส่งออกได้ประโยชน์มาก และเมื่อการส่งออกดีขึ้นจะทำให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากขึ้นจนการใช้กำลังการผลิตขยายตัวไปอยู่ที่ 70% จะเกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งการลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยการส่งออกต้องดูทิศทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น แต่การระบาดระลอกใหม่ในยุโรปทำให้มีการล็อกดาวน์ ส่วนค่าเงินบาทมีผลต่อการส่งออกและค่าเงินบาทในระดับ 31-32 บาท อยู่ในเกณฑ์ที่ส่งเสริมการส่งออก ซึ่งการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนต้องให้เป็นไปตามกลไก แต่สิ่งที่บริหารจัดการได้ เช่น การส่งเสริมการลงทุนของเอกชนไทยในต่างประเทศ การจ่ายหนี้ต่างประเทศด้วยสกุลเงินดอลลาร์ การนำเข้าเครื่องจักร โดยเครื่องมือบางอย่างจากต่างประเทศจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนมากขึ้นแบบไม่ต้องไปแทรกแซง

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน สศช.มองว่าขยายตัว 2.2% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี อีกส่วนที่ต้องเร่งรัด คือ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 80-90%

สำหรับภาคการท่องเที่ยวต้องดูว่าการฟื้นตัวปี 2564 หลังมีแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไตรมาสที่ 3–4 จะมีนักท่องเที่ยวมาเท่าใด ซึ่งมีการประเมินที่ 1–2 แสนคน แต่ต้องประเมินอีกว่ากลุ่มที่เข้ามาจะเที่ยวไทยนานแค่ไหน และใช้จ่ายเงินมากแค่ไหนถึงจะประเมินได้ว่าภาคการท่องเที่ยวได้เม็ดเงินจากการเปิดประเทศในปลายปีนี้เท่าไหร่

“นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาปลายปีต้องดูดีมานต์จริงที่จะมาไทย เพราะขณะนี้หลายประเทศแถบนี้มีแผนเปิดประเทศดึงนักท่องเที่ยวเช่นกัน ทั้งมัลดัฟส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ที่เป็นคู่แข่งในช่วงแรกที่เริ่มเปิดประเทศ” 

161855591729 สำหรับปัจจัยขับเคลื่นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จะมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ใช้เงินส่วนนี้ ซึ่งงบส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้กันไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่อนุมัติให้ส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชนและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้เตรียมความพร้อมการจัดซื้อจัดจ้างหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วจะดำเนินการได้ทันที ซึ่งมีระยะเวลาในการเบิกจ่าย 6 เดือน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีได้

ปัจจุบันเงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาทมีวงเงิน 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1.7 แสนล้านบาท การเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวและกำลังซื้อในประเทศ 1.9 พันล้านบาท ส่วนวงเงินด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมวงเงินกู้ 1 ล้านบาทเบิกจ่ายแล้ว 78% ส่วนโครงการลงทุนเบิกจ่ายได้น้อยและ  สศช.ให้เวลาถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้หากโครงการใดเบิกจ่ายต่ำกว่า 10% จะดึงเงินคืนมาเพื่อจัดสรรให้กับโครงการอื่น

ส่วนนี้การใช้เงินโครงการอื่นต้องดูตามสถานการณ์ และต้องประเมินมาตรการที่เหมาะสม โดยหากจะทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 ยังพอมีเม็ดเงินที่จะใช้ได้ เพราะระยะที่ 1-2 ใช้งบไประยะละ 5 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการที่จะสนับสนุนให้คนเอาเงินออมออกมาใช้จ่ายต้องคิดว่าจะทำออกมาในรูปแบบใดให้ตรงอุปนิสัยผู้มีเงินออมให้นำเงินออกมาใช้จ่ายช่วยเศรษฐกิจ

161855584749

“ทีดีอาร์ไอ”ชูภาคส่งออกฟื้น

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยขึ้นกับการระบาดของโควิด–19 ในและต่างประเทศ โดยมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งมีกลุ่มที่ไปได้ดี คือ กลุ่มที่เน้นตอบโจทย์ชีวิตช่วงโควิด เช่น การค้าขายอาหารออนไลน์ สินค้าสุขภาพ หน้ากาก เจล การค้าออนไลน์

ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาพรวม ยกเว้นภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง โดยกำลังซื้อกลับมาเพราะการกระตุ้นของภาครัฐที่มีโครงการมาต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโต 3% เศษ และภาคท่องเที่ยวจะกลับมาช้าสุด โดยต้องพึ่งมาตรการเปิดเมืองที่เริ่มทดลองให้ต่างชาติมาเที่ยว 5-6 จังหวัด

“ภาคที่ฟื้นตัวได้ดีในปีนี้ คือ ภาคการส่งออก ซึ่งในต่างประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจจึงต้องการสินค้านำเข้า รวมทั้งความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นด้วย และค่าเงินสหรัฐที่แข็งขึ้นยิ่งทำให้ราคาสินค้าไทยลดลง และเป็นตัวจูงใจการส่งออกดีขึ้น”