เหตุใด 'วัคซีนพาสปอร์ต’ยังใช้ไม่ได้ มีเงื่อนไขอะไร

เหตุใด 'วัคซีนพาสปอร์ต’ยังใช้ไม่ได้  มีเงื่อนไขอะไร

ยังไม่มีการตกลงอย่างเป็นทางการในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต (vaccine passport) ในเมืองไทย แต่กำลังพิจารณา"ใบรับรองการได้รับวัคซีน"(vaccine certificate) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถทำได้

เงื่อนไขการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิรดยังระบาดอยู่ทั่วโลก หลายประเทศมีมาตรการให้ใช้ ใบรับรองการรับวัคซีนแล้ว (vaccine certificate) 

ข้อมูลจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP -Health Intervention and Technology Assessment Program) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564

ประเทศที่ใช้ใบรับรองการได้รับวัคซีน (vaccine certificate) มี 13 ประเทศอิสราเอล กรีซ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย สวีเดน ไซปรัส ไอซ์แลนด์ เดนมาร์กจอร์เจีย โรมาเนีย โปแลนด์ เซเชลล์ ฯลฯ

ส่วนประเทศที่กำลังพิจารณา มีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน บรัสเซลล์(EU) ฮังการี สเปน เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย

แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต และใบรับรองการได้รับวัคซีนแล้ว (vaccine certificate) เนื่องจากตอนนี้ไวรัสโควิดระบาดหนัก และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วมีจำนวนน้อยมาก นับตั้งแต่วันที่ 28  กุมภาพันธ์-13 เมษายน 2564 มีจำนวน 579,305 โด้ส โดยมีคนที่รับวัคซีนแล้วแค่ 5 แสนกว่าราย

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP -Health Intervention and Technology Assessment Program) กล่าวในในเวทีเสวนา เส้นทางจุดที่ 1 เปิดประเทศด้วย vaccine passport ? ว่า

 “ตอนนี้การเดินทางระหว่างประเทศใช้เอกสารรับรองเยอะมากที่เกี่ยวข้องกับโควิด ถ้าจะต้องมีเอกสารยืนยันว่าได้รับวัคซีนแล้ว หรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษในการทำเอกสาร เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ"

เพราะตอนนี้ยังมีคนไทยกว่า 60 ล้านคนไม่ได้ฉีดวัคซีน เรื่องนี้ คุณหมอยศ บอกว่า มีหลายคนไม่เห็นด้วยที่จะใช้วัคซีนเป็นตัวกำหนด และยังมีคนที่ติดเชื้อแล้ว มีภูมิคุ้มกันประมาณสามหมื่นคน ก็มีคำถามอีกว่า หากคนกลุ่มหลังที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่ฉีดวัคซีน จะทำให้แพร่เชื้อได้หรือไม่ 

161855742874

นั่นเป็นคำถามจากคุณหมอยศ ซึ่งการเปิดประเทศครั้งใหม่ ยังมีรายละเอียดอีกเยอะว่า ต้องมีหลักฐานแบบไหน ทั้งกรณีฉีดวัคซีนมาแล้วหรือมีภูมิคุ้มกัน (เคยติดเชื้อมาแล้ว) และมีแนวโน้มว่า อาจเลือกใช้ใบรับรองการได้รับวัคซีนแล้ว (vaccine Certificate ) แทนการใช้วัคซีนพาสปอร์ต (vaccine passport

หากพิจารณาแค่เรื่องวัคซีน เพื่อรับรองการเดินทางระหว่างประเทศ เปมิกา ลุสนานนท์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและดูแลคนไทย สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ถ้าเป็นวัคซีนพาสปอร์ต อย่างที่ทุกคนเข้าใจ ต้องเป็นมาตฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

“ถ้าไทยหรือประเทศอื่นจะมีวัคซีนพาสปอร์ตต้องใช้เวลาดำเนินการ เพราะตอนนี้มาตรฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับจาก WHO เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และข้อตกลงทางด้านวัคซีนยังไม่ชัดเจน

ดังนั้นการทำ Vaccine Certificate ใบรับรองการได้รับวัคซีนแล้ว สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า ตอนนี้เรากำลังรวบรวมรูปแบบใบรับรองการได้รับวัคซีนของประเทศต่างๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางต่างกัน เอกสารที่ได้รับการยอมรับ คือ ต้องมีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ และอีกส่วนคือ ชื่อวัคซีนที่ฉีด วันเดือนปีที่ฉีด หน่วยงานที่ฉีด ฯลฯ”

อย่างไรก็ตาม vaccine certificate หรือใบรับรองว่าการได้รับวัคซีนแล้วของแต่ละประเทศอาจมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างกัน ขณะที่ประเทศหนึ่งยอมรับแบบนี้ อาจนำไปใช้ในอีกประเทศไม่ได้

คุณหมอยศ บอกอีกว่า ถ้าเปิดประเทศโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต(vaccine passport) ถึงจะเดินทางได้ หรือคนต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยต้องมีเอกสารชุดนี้ จะเกิดความเหลือมล้ำในสังคมโลก

"ถ้าเป็นอย่างนั้น คนจำนวนมากคงเสียประโยชน์ในการเดินทาง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน ล่าสุด(เมษายน 2564) รัฐบาลยังไม่ได้วางเงื่อนไขว่า วัคซีนพาสปอร์ต ต้องมีรายละเอียดอย่างไร

ตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาแบบไหน  จะเลือกวัคซีนพาสปอร์ต หรือใบรับรองการได้รับวัคซีนแล้ว หรือเลยไปถึงใบรับรองการมีภูมิคุ้มกันแล้ว เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในระดับนโยบาย"

เนื่องจากการใช้  vaccine passport จำเป็นที่ประเทศอื่นๆ จะต้องให้การยอมรับ และปฏิบัติต่อผู้ถือเอกสารรูปแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งต่างจาก vaccine certificate แต่ละประเทศอาจมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน ตามข้อตกลงของแต่ละหน่วยงานในประเทศนั้นๆ 

161855746851

(vaccine certificate หนึ่งทางเลือกการเปิดประเทศ) 

................

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยอาจต้องเริ่มนโยบายในรูปแบบของ vaccine certificate ไปก่อนในขั้นต้น แม้องค์การอนามัยโลกจะยังไม่สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการนี้ด้วยเหตุผล 4 ข้อคือ

1 ด้านวิชาการ : ยังขาดข้อมูลคุณประโยชน์ของวัคซีนในแง่การป้องกันการติดเชื้อ เพราะวัคซีนที่ได้รับการรับรองในประเทศต่าง ๆ และองค์การอนามัยโลก แสดงเฉพาะประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงเท่านั้น

ประกอบกับยังไม่ทราบว่า วัคซีนออกฤทธิ์ได้นานเพียงใด และอาจเกิดไวรัสกลายพันธุ์ที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทั่วโลก ยังไม่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว

2 ปัญหาจริยธรรม : เนื่องจากวัคซีนยังขาดแคลน  ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างเพียงพอ การมีมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและกลายเป็นปัญหาทางสังคม เช่น ผู้บริหารประเทศมีการแก่งแย่งให้ประเทศของเขาได้รับวัคซีนก่อน เพื่อประโยชน์ในการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นต้น

3 ด้านกฏหมายระหว่างประเทศ : ในข้อตกลงฉบับล่าสุดประเทศต่าง ๆ ต้องไม่จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศด้วยเหตุว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับวัคซีนหรือไม่ ยกเว้นกรณีเดียวคือ การรับวัคซีนไข้เหลือง

4 ด้านเทคนิค : ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องข้อมูลที่ใช้ยืนยันและการตรวจสอบความถูกต้องของวัคซีนหลายตัว เพราะบางชนิดไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบางประเทศ ทำให้ประเทศนั้น ๆ อาจไม่ยอมรับ ถึงแม้บุคคลนั้นจะได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน

.................

(ข้อมูลจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือHITAP -Health Intervention and Technology Assessment Program )