ท่าเรือบก-แลนด์บริดจ์ฯ  หนุนแหลมฉบังเชื่อมนานาชาติ

จากแนวคิดให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน เสริมยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค 

จากแนวคิดให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน เสริมยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการท่าเรือบก จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน), นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว), ย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ (เมียนมา), ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) 

โครงการท่าเรือบกจะช่วยให้สินค้าไทยจีนตอนใต้ผ่านรถไฟ มาท่าเรือระนองทางฝั่งทะเลอันดามัน ช่วยประหยัดเวลา 4-5 วัน หรือลดเวลาได้ 30-50% เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกวางโจวอ้อมแหลมมะละกาไปอินเดีย รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ และสินค้าไทยจากภาคตะวันออกไปยังจีนตอนใต้ได้รวดเร็วขึ้น

 โดยกำหนดโครงการไว้ 3 แห่ง คือ ท่าเรือบกฉะเชิงเทรา โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าทางเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าท่าเรือน้ำลึก จ.ชุมพร เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวงมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย สร้างเสร็จในปี 2568 นอกจากนี้ ยังรวมถึงรถไฟทางคู่สายใหม่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท

โครงการสะพานไทย เพื่อเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยจะก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและการจัดลำดับความสำคัญ คาดว่าการก่อสร้างแล้วจะเสร็จปี 2575 มูลค่า 990,000 ล้านบาท

โครงการท่าเรือบก ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์โลจิสติกส์ เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง โครงการแลนด์บริดจ์ ที่เป็นโครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน และโครงการสะพานไทยที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.18 ล้านล้านบาท 

นอกจากจะช่วยประหยัดระยะเวลาเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายการขนส่งแล้ว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ อีกทั้งสามารถเชื่อมประเทศไทย อาเซียน จีน อินเดีย ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออก ตะวันออกกลางและสหภาพยุโรปได้สะดวกยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยง สะท้อนความคุ้มค่าการลงทุนด้วย อาทิ เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องขุดคลองคอคอดกระ เมื่อมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้ในปริมาณมากขึ้น เป็นต้น โดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพื่อประหยัดงบประมาณทำให้สามารถนำเงินงบประมาณไปใช้ในด้านอื่นได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ สิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ พื้นที่ใช้สอยบนบกอาจคับแคบไม่เพียงพอกับการวางตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าขนส่ง จึงควรสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้สามารถตอบสนองการส่งออกของผู้ประกอบการด้วย