“พลังงาน” จ่อลอยตัวราคาLPGครึ่งปีหลัง

 “พลังงาน” จ่อลอยตัวราคาLPGครึ่งปีหลัง

“พลังงาน” จ่อลอยตัวราคา LPG หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ สั่ง สนพ.เกาะติดทิศทางราคาตลาดโลก ก่อนกำหนดมาตรการที่เหมาะสม หลังเงินกองทุนแบกภาระใกล้ชนเพดาน 1.5 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนากยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้กำชับให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซหุงต้มตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาราคา LPG ค่อยข้างผัวผวนและปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนของทางยุโรปและสหรัฐ ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่า ราคาLPG ตลาดโลกจะเริ่มเป็นขาลง ตามความต้องการใช้ LPG ที่ลดลง ดังนั้น อาจเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม หากจะพิจารณาใช้มาตรการลอยตัวราคา LPG

“จากนี้ไป สนพ.จะต้องจับตาราคา LPG ตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อนำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในการกำหนดมาตรการเรื่อง LPG ต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลอดตัวราคา หลังภาครัฐตรึงราคามาพอสมควรและกระทบต่อสถานะกองทุนน้ำมันฯ แต่ก็จะต้องคำนึงถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้นประกอบกับด้วย เพื่อไม่กระทบต่อประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กบง.เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 ได้มีมติขยายระยะเวลาตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือน ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปอีก 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2564) หลังจากมาตรการดังกล่าว สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 ซึ่งคาดว่า การตรึงราคาในครั้งนั้น จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยส่วนต่างราคาเดือนละ 700 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 2,100 ล้านบาท ตลอด 3 เดือน โดยวงเงินดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้กรอบที่ กบน.อนุมัติไว้ให้ดูแลราคา LPG ไม่เกิน 15,000 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การตรึงราคา LPG ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชี LPG ติดลบแล้ว 11,514 ล้านบาท (ณ วันที่ 4 เม.ย.64 ) และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนในแถบยุโรปและสหรัฐในช่วงกลางปีนี้ ฉะนั้น กอรบวงเงินที่อนุมัติไว้ 15,000 ล้านบาท น่าจะยังเพียงพอดูแลราคา LPG แต่ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมัน เพราะเป็นการนำเงินไปชดเชยราคาข้ามประเภทเชื้อเพลิง

ด้านนายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ระบุว่า สถานการณ์ภาพรวมการใช้ LPG ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นจากปีก่อน หลังภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่การใช้ในภาคครัวเรือน ยังลดลง 1-2 % ส่วนภาคขนส่ง ยังลดลงต่อเนื่อง แต่ระยะต่อไปก็ต้องติดตามผลกระทบจากโควิด-19

“การจะลอยตัวราคา LPG หรือไม่ ก็เป็นเรื่องนโยบายของภาครัฐ แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซและทิศทางเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย”

แหล่งข่าววงการค้าก๊าซLPG ระบุว่า การเติบโตของ LPG ภาครัวเรือนในประเทศ เป็นการเติบโตที่ไม่มากนัก เพราะรัฐบาลยังมีการตรึงราคา ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในธุรกิจเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม จากทิศทางเศรษฐกิจช่วงต้นปีนี้ที่เริ่มฟื้นตัว ก็ทำให้ผู้ค้ารายใหญ่เริ่มหันมาแข่งขันชิงลูกค้าในตลาดครัวเรือนมากขึ้น แต่ล่าสุด โควิด-19 ที่ระบาดรอบใหม่ ก็กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไป