โควิด-19 รอบสาม

สถานการณ์โควิด-19 รอบสาม เรียกได้ว่าฝุ่นตลบ ทางออกของวิกฤติครั้งนี้ นอกจากเร่งฉีดวัคซีนแล้ว หากทำ micro shutdown ให้ผู้ติดเชื้อ isolate ตัวเองจากผู้คนรอบตัว รวมถึงมีเครื่องมือกระตุ้นให้ยินดีกักตัวอยู่ในบ้าน จะเป็นอย่างไร? จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?

สถานการณ์ในวินาทีนี้ของการระบาด covid-19 รอบสามต้องบอกว่า ‘ฝุ่นตลบ’ สร้างความหวาดวิตกกับผู้คน

การแพร่ระบาดลามไปหลากวงการอย่างคาดไม่ถึง ตั้งแต่วงการทูต กีฬา นักการเมือง บันเทิง ตำรวจ ความหมายคือ covid กระจายตัวเอง out of control ของการบริหารจัดการ เมื่อสามเดือนที่แล้วผมมีโอกาสคุยกับคุณหมอกรณ์ ปองจิตธรรม ซึ่งเป็นคุณหมอประจำตัวผม และเป็นผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ตอนที่คุยกันนั้น covid รอบสองพึ่งเริ่มระบาด ผมตีความหมายจากความเห็นของคุณหมอว่าถ้ามาตรการยังหย่อนกับความเอาจริงเอาจังกับการระบาดรอบสอง การระบาดรอบสามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และวันนี้มันพิสูจน์แล้วว่าการคาดเดาของคุณหมอเป็นจริงอย่างที่ได้ให้ความเห็นไว้ คุณหมอเล่าทฤษฏีของคุณหมอว่าเวลา covid ระบาด การทำ national lockdown มีประสิทธิภาพเพียง 25% 

สิ่งที่คุณหมอให้ความเห็นว่าวิธีที่จะหยุดการระบาด covid ให้มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศไทยคือการทำ small gathering cancellation ซึ่งจะได้ผลสูงถึง 83% ตัวเลขนี้ได้มาจากวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อ nature human behavior อะไรคือ small gathering cancellation ถ้าการระบาดเป็น cluster ให้ lockdown ทั้ง cluster โดยขีดเส้นเป็นวงกลมรัศมีเท่าไร กำหนดจากการที่ฝ่ายบริหารต้องการ safety factor มากน้อยเพียงไร 

แต่ถ้าการระบาดเกิดเป็นหย่อมเล็กๆ และกระจายตัว คุณหมอให้ความเห็นว่าให้ทำ micro shutdown สมมติว่านาย ก. นาย ข. ติดเชื้อและอยู่ในที่ห่างกันมาก มาตรการของรัฐคือให้นาย ก. นาย ข. กักตัวในบ้าน 14 วัน ให้ผู้ติดเชื้อ isolate ตัวเองจากผู้คนรอบตัว มากไปกว่านั้นถ้ารัฐบาลอยากจะให้วิธีนี้ได้ผล รัฐบาลควรจะมี incentive ให้กับคนเหล่านั้นด้วยการจ่ายเบี้ยเลี้ยง เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนเหล่านั้นยินดีกักตัวอยู่ในบ้านครบตามจำนวนวัน 

incentive เหล่านั้นคือค่าอาหารสามมื้อ สิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ค่าตรวจ covid PCR สองรอบ การถูกกักตัวใครที่ทำงานกับองค์กรต้นสังกัดไม่นับเป็นวันลา และหน่วยงานของรัฐต้องมีเครื่องมือระบุตำแหน่งของผู้กักตัวเพื่อให้แน่ใจผู้กักตัวอยู่ในบ้านจริงครบตามกำหนด 

คำถามที่ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า ทำไมคุณหมอเสนอ incentive เหล่านี้ให้กับการทำ micro shutdown คำอธิบายคือคนเหล่านี้ไม่ใช่ไม้หนึ่งหรือต้นเหตุของการติดเชื้อ แต่เป็นผู้รับเชื้อต่อจากต้นตอ ความหมายคือคนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำอะไรผิดที่ติด covid แต่เป็นเพราะพวกเขาเป็นไม้สอง ไม้สาม incentive จึงเปรียบเสมือนการดูแลคนที่ “โชคไม่ดี” ที่พลอยฟ้าพลอยฝนมารับเคราะห์กรรมของ covid ซึ่งถามว่ามีวิธีในการพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นไม้สอง ไม้สามได้อย่างไร ไม่ยากเลยครับด้วยวิธีการทำ tracing 

ด้วยวิธีนี้คุณหมอให้ความเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สามประการ หนึ่งประหยัดงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมหาศาลในการบริหารจัดการกับการระบาดของ covid เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันมีแค่เป็นหลักร้อยคน ทำให้ประเทศมีเงินเหลือไปกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อ covid หยุดระบาด สองวิธีนี้คือวิธีง่ายที่สุดที่หยุดการแพร่เชื้อ 

สมการของคุณหมอคือถ้า mobility เท่ากับศูนย์สำหรับผู้ติดเชื้อ การระบาดจะลดน้อยถอยลง จนในที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อจะต่ำ จนสร้างความมั่นใจกับประชาชนและผู้ประกอบการเศรษฐกิจ ทำให้วงจรเศรษฐกิจกลับมาหมุนได้อีกครั้ง 

ประเด็นสุดท้ายคือระบบเศรษฐกิจไม่พัง เพราะคนที่มีปัญหาถูกกักตัวไว้หมด ซึ่งนี่ต้องทำงานควบคู่กับการตรวจเชิงรุก แต่ในมุมกลับถ้ายังใช้ระบบเดิมกำหนดจังหวัดแต่ละจังหวัดว่าเป็นสีอะไร ตัวอย่างเช่นกรุงเทพเป็นสีแดง ความหมายคือเหวี่ยงแหว่าจังหวัดนี้ทั้งจังหวัดมีปัญหา market sentiment จะมีเครื่องหมายคำถามที่ค้างคาใจผู้ประกอบการ 

ประเด็นหลักของการบริหารจัดการเรื่อง covid คือสังคมต้องมี trust กับมาตรการของฝ่ายบริหาร และ trust จะเกิดขึ้นได้ มาจากความเอาจริงเอาจัง ฉับไว มีมาตรการที่ชาญฉลาดและเฉียบขาดที่บางครั้งอาจจะมีบางส่วนเสียผลประโยชน์ แต่เป็นการเสียสละเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ เท่าที่ผมสังเกตมาตรการของรัฐในการดูแลการระบาดรอบสองเปรียบเสมือน “เชือกที่ตึงไม่เต็มที่” 

ประเด็นที่สองคือประชาชนกลุ่มหนึ่งผ่อนคลายตัวเอง ทำตัวเองชิลๆ เกินเหตุกับสถานการณ์ที่การระบาดรอบสองยังอยู่ในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ผู้คนบางกลุ่มออกไปทานข้าวร่วมกันดื่มสิ่งมึนเมาโดยไม่มี social distancing เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนทองหล่อเป็นตัวอย่างที่อธิบายได้ดีว่าทำไมการแพร่กระจายถึงระบาดเป็นวงกว้างอย่างเหลือเชื่อ 

คำถามต่อก็คือเมื่อ covid รอบสามเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวปลอดภัย ผมใช้คำพูดที่คุณหมอพูดกับผม คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ชัดยิ่งกว่าชัด คุณหมอให้ความเห็นว่า “แม้แต่คนในครอบครัว เราก็ต้องระวังตัว” ที่คุณหมอพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าคนในครอบครัวเราติดเชื้อ covid นะครับ แต่ความหมายคือต้องปฏิบัติตัวโดยมีความเคร่งครัดในการดำเนินชีวิต แม้แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับครอบครัว เพราะอะไร วันนี้มันฝุ่นตลบแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

ประการที่สองใครที่บริหารตัวเองได้ ควรจะ shutdown ตัวเองอยู่กับบ้าน เพื่อความสบายใจ ผมทราบดีว่าการที่อยู่กับบ้านเป็นเวลานาน ๆ สิ่งที่ตามมาคือ “ความเบื่อ” ดังนั้น คุณต้องมีกระบวนการ “เอาชนะ” ความเบื่อ สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในการอยู่บ้านติดต่อกันเป็นเวลานาน ผมมีข้อแนะดังนี้ กิจกรรมที่เป็นตัวผ่อนคลายคือการออกกำลังกาย ดูภาพยนตร์ในหมวดหมู่ที่ผมเรียกว่า feel good movie อ่านหนังสือหรือฟังเพลงที่โปรดปราน

แม้กระทั่งการนั่งสมาธิ นี่คือ private moment in life ที่คุณจะได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง มีโอกาสทำในสิ่งที่คุณอยากทำและเวลาไม่ใช่ constraint ของการทำกิจกรรม ผมเคยใช้ชีวิตในบ้านติดต่อกันหลายเดือนโดยไม่มีความติดขัดของชีวิต เพราะผมออกแบบตารางเวลาที่เป็น fixed schedule ทำให้นาฬิกาที่บ้านผมไม่เดินช้าเกินควร 

สิ่งที่เป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดคือการไปทำ group gathering เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่นั่งข้างคุณมีประวัติอะไรมาก่อน ถึงแม้คนเหล่านั้นเป็นเพื่อนสนิทของคุณ ถามว่าเพราะอะไร กลับไปดูข้อความที่ผมเขียนไว้ข้างต้น ตอนนี้มันฝุ่นตลบเกินความคาดหมาย คำถามคือคุณเอาตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง มันจะคุ้มค่ากับความสนุกหรือครับ ขอขยายความคำว่า group gathering คือกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดการรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวเป็นกลุ่มใหญ่ นั่งชิดแบบไหล่ชนไหล่ การสังสรรค์ในทุกรูปแบบต้องหยุดไว้ชั่วคราวจนกว่าฝุ่นจะจางหายไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมในวันสงกรานต์ที่จะไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่คุณเคารพควรต้องเว้นหนึ่งปี ประเด็นคือคุณต้องหยุดพฤติกรรมของการเป็น activity man ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้คนรอบตัวที่คุณรัก 

เมื่อรัฐยังไม่ออกมาตรการออกมา เราไม่ต้องไปรอหรอกครับ เราออกมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง อีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอให้คำแนะนำคือการไปฉีด vaccine โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อายุเข้าวัยเกษียณ โดยไปจองคิวฉีด vaccine ทาง Line  ชื่อ “หมอพร้อม” ซึ่งจะเริ่มต้นให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ขอจบบทความด้วยประเด็นสองประเด็น ผมมีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้อง revisit ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการวิกฤตที่มาเป็นรอบที่สาม

บทความนี้ผมขอสื่อตรงไปที่นายกรัฐมนตรีว่า “วิธีคิดเก่า จะสร้างผลลัพธ์ใหม่” มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สุดท้ายอยากบอกผู้อ่านทุกท่านว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ครับ