'อมตะ' ปรับกลยุทธ์โควิด เสริมรายได้ Non-land

'อมตะ' ปรับกลยุทธ์โควิด เสริมรายได้ Non-land

ปี 2563 เป็นปีที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และหลายฝ่ายคาดหวังว่าภาวะการลงทุนปี 2564 จะดีขึ้น แต่การระบาดหลายคลัสเตอร์ที่เกิดต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีทำให้เกิดความไม่มั่นใจและต้องมีการปรับแผนธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมปี 2564 มีแนวโน้มดีกว่าปี 2563 แน่นอน โดยปี 2564 อมตะตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง จำนวน 950 ไร่ สูงกว่าปี 2563 ที่มียอดขาย 212 ไร่ โดยคาดว่าปี 2564 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จะมียอดขาย 200 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง 450 ไร่ และนิคมอมตะไทย-จีน 300 ไร่

รวมทั้งประเมินว่าปีนี้การลงทุนจากต่างชาติจะเข้ามามากขึ้น เพราะทั่วโลกเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว คาดว่าในไตรมาส 3-4 การลงทุนจะกลับมาในระดับ 50% เมื่อเทียบกับภาวะปกติ แต่รัฐบาลควรจับคู่กับประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้งจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่สนใจมาไทยจำนวนมาก 

ทั้งนี้หากนักลงทุนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ฉีดวัคซีนแล้วก็อำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศลดระยะเวลาการกักตัว จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนได้มาก เพราะการเข้ามาเลือกซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงงานผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจะต้องเข้ามาดูพื้นที่ด้วยตนเอง

161849851347

สำหรับปี 2564 มีลูกค้าเดิมที่ไม่สามารถเข้ามาดูพื้นที่ได้เพราะโควิด-19 และจะเข้ามาเจรจาซื้อที่ดินตั้งโรงงาน 20-30 ราย และปีนี้น่าจะมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาอีก 10 ราย ทำให้มั่นใจว่าจะมียอดขายทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 950 ไร่ 

"ผมยังกังวลการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 หากมีเหตุการณ์แบบสมุทรสาครขึ้นอีกจะกระทบต่อการลงทุน”

ขณะนี้ อมตะร่วมมือกับเอไอเอสวางระบบ 5จี ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และจะทยอยขยายให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งหมด เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูง และยังมีแผนที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจดิจิทัลที่มาพร้อมกับ 5จี เพื่อเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่ใช่การขายที่ดินมากขึ้น

ปัจจุบันอมตะมีรายได้จากการขายที่ดินและเช่าโรงงาน 65% รายได้จากการบริการอื่น 35% ในอนาคตจะปรับลดสัดส่วนรายได้จากการขายและเช่าที่ดินลงให้เหลือ 20% และรายได้จากธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค 80% เนื่องจากรายได้จากการขายที่ดินจะมีความผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่รายได้จากภาคบริการและสาธารณูปโภคจะมีเสถียรภาพมากกว่า และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-10% ทุกปี ซึ่งรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากเทคโนโลยี 5จี ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ในธุรกิจบริการ

“ปี 2564 สัดส่วนการขายหรือเช่าที่ดินอาจจะสูงกว่าปีที่ 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น นักลงทุนเริ่มเข้ามาเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินได้มากขึ้น" 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วนของธุรกิจบริการและสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่อมตะได้เดินหน้าขยายการลงทุนด้านนี้มาตลอด ทั้งการร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า และระบบการจำหน่ายยุคใหม่ การผลิตน้ำดิบ การบำบัดน้ำเสีย การผลักดันแพลตพอร์มดิจิทัลให้บริการด้านต่างๆ รวมถึงการขยายไปสู่ธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับ 5จี ที่จะเพิ่มมาอีกมาก เพราะธุรกิจซื้อขายที่ดินก็ย่อมมีที่สิ้นสุด แต่รายได้ที่ต่อเนื่องจากกิจกรรมภายในเมืองอุตสาหกรรมของอมตะ จะสร้างรายได้ในระยะยาว และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้แม้ว่าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่หลายแห่งทำให้แข่งขันมากขึ้น แต่อมตะมั่นใจจุดเด่นไม่เหมือนรายอื่น คือ การเป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐานดี และมีชุมชนเมืองทั้งที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ชอปปิ้งพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งการเป็นเมืองทำให้น่าอยู่น่าลงทุนมากกว่าการเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียว เพราะทั้งผู้บริหารและพนักงานต่างต้องการทำงานและพักอาศัยในที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม

รวมทั้งอมตะได้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจีนมีพื้นที่ 3 พันไร่อยู่ในนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ยังเหลือพื้นที่รองรับได้อีก 700-800 ไร่ และหากนักลงทุนจีนต้องการมากขึ้นก็พร้อมขยายได้อีก รวมทั้งได้สร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรักนักลงทุนจีนอีก 10 อาคาร ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1 พันล้านบาท และกำลังจะขยายอาคารเพิ่ม เพราะนักลงทุนจีนชอบทำงานใกล้โรงงาน โดยอุตสาหกรรมจีนที่มาลงทุนจะต้องเป็นโรงงานที่มีคุณภาพมีความรับผิดชอบไม่ปล่อยมลพิษ ไม่เช่นนั้น อมตะ จะเสียชื่อเสียง

อมตะ จะใช้จุดเด่นความเป็นเมืองดึงนักลงทุน มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับทุกด้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ อมตะ อยู่เหนือนิคมฯแห่งอื่นทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน”

ส่วนสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องจับตาเพื่อนบ้านที่ให้สิทธิระดับเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลควรเพิ่มการโปรโมท เช่น ไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก มีสถานพยาบาลในระดับแนวหน้าของโลก มีระบบสาธารณสุขชั้นเยี่ยมสามารถรับมือกับโควิด-19 เป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลก 

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนภาพความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยและความปลอดภัย เพราะผู้บริหารที่เข้ามาทำงานนอกจากจะต้องมีผลกำไรที่ดีแล้ว แต่จะต้องอยู่ดีกินดีด้วย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมีความสุขในการทำงาน

“เมื่อเทียบศักยภาพการลงทุนกับเวียดนาม มองว่าเวียดนามมีจุดเด่นที่ชัดด้านค่าจ้างแรงงานต่ำเป็นหลัก แต่ยังมีต้นทุนอื่นสูง เช่น ต้นทุนการดำเนินการ การประสานงานหน่วยงานอื่น ความชัดเจนของกฎระเบียบและภาษี ซึ่งจุดนี้หากไม่ชัดเจนจะเป็นภาระที่หนัก รวมทั้งไทยยังมีต้นทุนโลจิสติกส์ดีกว่า ดังนั้นไทยไม่เสียเปรียบด้านการลงทุนเมื่อเทียบเวียดนาม”