73 ปีอิสราเอล 67 ปีมิตรภาพยั่งยืน

73 ปีอิสราเอล 67 ปีมิตรภาพยั่งยืน

ในบรรดามิตรประเทศ อิสราเอลที่สถาปนาขึ้นในปี 2491 ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาเนิ่นนาน ในโอกาสวันชาติอิสราเอลปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เม.ย. ดร.เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจถึงมิตรภาพระหว่างสองประเทศ

"ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับอิสราเอลมีมานานแล้วครับ เริ่มต้นเมื่อปี 2497 ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน และดีมากนับตั้งแต่นั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลกับรัฐบาล พระบรมวงศานุวงศ์ไทยเสด็จเยือนอิสราเอลหลายพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เคยเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยือนอิสราเอลเป็นเวลาหลายวัน นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลมาร่วมทำงานในโครงการหลวงช่วงทศวรรษ 60 เราได้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรีด้วย"

ทูตอิสราเอลกล่าวด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนก็น่าสนใจมากเช่นกัน ขณะนี้แรงงานไทย 25,000 คนกำลังทำงานในภาคเกษตรของอิสราเอล แต่ละปีอิสราเอลให้นักศึกษาสาขาเกษตรของไทยจำนวนหลายร้อยคนเข้าไปฝึกงานระยะเวลา 1 ปี และยังให้ข้าราชการไทยเข้าร่วมอบรมที่อิสราเอล ในทางกลับกันไทยเป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 2 ของคนอิสราเอล แต่ละปีมาเที่ยวเมืองไทยกันราว 200,000 คน พวกเขาชอบประเทศไทยมาก ถ้านับจำนวนนักท่องเที่ยวกับจำนวนปีที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน กล่าวได้ว่าชาวอิสราเอลเกือบทุกคนเคยมาเที่ยวเมืองไทย

“คนอิสราเอลชอบอาหารไทย ที่ชอบมากที่สุดคือข้าวเหนียวมะม่วง ต้มยำ” ทูตชโลโมย้ำ ซึ่งในความชอบท่องเที่ยวไทยนี้ ท่านทูตมีประสบการณ์ด้วยตนเอง สมัยยังเป็นหนุ่มน้อย วัย 26 ปีเคยมาเที่ยวไทยแบบแบ็กแพ็กเมื่อปี 2523

"รู้สึกดีมากครับ เพราะตอนนั้นคนอิสราเอลที่มาเที่ยวเมืองไทยยังมีไม่กี่คน ผมมาเที่ยวราว 2 เดือนเศษๆ ไปเที่ยวทั่วเหนือทั่วใต้ ชอบมาก เมื่อได้มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจึงเป็นเรื่องดียิ่ง”

หากเทียบเมืองไทยระหว่างวันนั้นกับวันนี้ ทูตชโลโมกล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศทันสมัยและอินเตอร์มาก มีตึกสูง ห้างสรรพสินค้ามากมาย กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีพลังมากที่สุดแห่งหนึี่งของโลก แต่ก็มีความผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตทันสมัยและวิถีดั้งเดิมที่หาไม่ได้จากที่อื่น เช่น คนไทยเคารพผู้หลักผู้ใหญ่มากและยึดมั่นศาสนาเหมือนในอิสราเอล

จากประเทศไทยสู่สถานการณ์โลกที่ปีนี้ยังหนีไม่พ้นโควิด นานาประเทศต่างเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร ข้อมูลจากบลูมเบิร์กชี้ว่า การฉีดวัคซีนในอิสราเอลก้าวหน้าที่สุดในโลก ท่านทูตเสริมว่า อิสราเอลฉีดวัคซีนได้เร็วมากตอนนี้ราว 55% ของประชากรทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าไม่นับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีที่ไม่ต้องฉีดวัคซีนตัวเลขก็อยู่ที่ 70-75% ของประชากรที่ควรฉีด ที่ทำได้เร็วขนาดนี้ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทำให้กระบวนการง่ายขึ้นและชาวอิสราเอลตื่นตัวต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

เมื่อพูดถึงความตื่นตัวก็อดสงสัยไม่ได้ถึงกระแสต่อต้านวัคซีนที่มีในหลายประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตก แล้วที่อิสราเอลเป็นอย่างไร

“ไม่มีครับ ผมมั่นใจว่ามีบางคนที่กลัว ไม่ต้องการฉีดวัคซีน แต่ไม่มีเป็นกลุ่มหรือขบวนการต่อต้าน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่” ขณะนี้อิสราเอลยกเลิกข้อจำกัดบางประการและมอบกรีนพาสให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว เช่น เวลาทำกิจกรรมในที่สาธารณะก็ต้องโชว์กรีนพาส เพื่อให้มั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกัน ในระดับระหว่างประเทศกำลังมีการเจรจาให้ยอมรับกรีนพาสปอร์ตเพื่อการเดินทางที่ง่ายขึ้นสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

และในฐานะที่อิสราเอลเป็น Start-up Nation ความคาดหวังเรื่องอิสราเอลจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ย่อมมีตามมา ทูตชโลโมเล่าว่า ขณะนี้วัคซีนที่อิสราเอลพัฒนาเองอยู่ในขั้นที่ 2 ซึ่งหวังว่าจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อการตรวจร่างกายได้ผลน่าเชื่อถืออย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที หรือเทคโนโลยีสเปรย์ฉีดจมูกที่คอยขัดขวางไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

เมื่อถามถึงความร่วมมือระหว่างอิสราเอลกับไทยในช่วงหลังโควิด ทูตชโลโมกล่าวว่า อิสราเอลพยายามดูแลธุรกิจให้เป็นไปตามปกติไม่ต้องรอให้พ้นโควิด ปีก่อนได้ลงนามข้อตกลงฉบับใหม่กับรัฐบาลไทยจ้างแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอล ส่วนความร่วมมือสำคัญหลังโควิดก็น่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ที่เพื่อนๆ จากอิสราเอลถามเข้ามาตลอดว่าเมื่อใดจะมาเมืองไทยได้เสียที

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด นั่นคือกระแสเกลียดชังชาวเอเชียที่เกิดขึ้นมากในสหรัฐและหลายประเทศ ทูตอิสราเอลในฐานะตัวแทนชาวยิวผู้ผ่านประสบการณ์ต่อต้านยิวอันเจ็บปวดมาแล้ว เคยพูดเสมอว่า “การศึกษา การศึกษา และการศึกษา” เท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่รอบนี้ดูเหมือนน่าจะยังไม่พอ

"ครับ ยังไม่พอ ชาวยิวผ่านบททดสอบมายาวนานมาก โชคไม่ดีเลยที่มนุษย์มีปัญหาตรงที่ ชอบคนที่เหมือนๆ กับเรา ไม่ชอบคนที่แตกต่างจากเรา ในประเทศอาจจะมีคนยิว มีคนเอเชียอาศัยอยู่บ้าง แต่เป็นปัญหามากตอนเกิดโควิดที่เรียกว่า Xenophobia (โรคหวาดกลัวชาวต่างชาติ) แค่ไม่เหมือนกันคนก็เกลียดกันแล้ว" อย่างไรก็ตาม ทูตชโลโมยืนยันว่า คำตอบในระยะยาวก็ต้องอยู่ที่การศึกษาอยู่ดี

สำหรับอิสราเอลแม้ผ่านบทเรียนอันเจ็บปวด สร้างประเทศด้วยความยากลำบาก แต่รายงานความสุขโลกของสหประชาชาติ ประจำปี 2564 อิสราเอลอยู่ในอันดับที่ 12 ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2563 น่าสนใจว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญ

“อิสราเอลเป็นสังคมที่เปิดกว้างมาก ปลอดภัยมาก ออกไปเที่ยวถึงเที่ยงคืนได้เพราะรู้ว่าปลอดภัย ผู้คนให้ความสำคัญกับครอบครัวมากๆ เศรษฐกิจดี รายได้ต่อหัวประชากรสูง และเป็นสังคมไฮเทค” ท่านทูตสรุปสูตรสำเร็จความสุขให้ฟังแบบย่นย่อ ก่อนทิ้งท้ายถึงมิตรภาพระหว่างอิสราเอลกับไทยที่ผ่านมาแข็งแกร่งมากและจะแข็งแกร่งต่อไป โดยความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และอิสราเอลยังมีโอกาสอีกมากสำหรับนักลงทุน