เช็คความพร้อมญี่ปุ่น-เจ้าภาพ'โอลิมปิกโตเกียว'

เช็คความพร้อมญี่ปุ่น-เจ้าภาพ'โอลิมปิกโตเกียว'

เช็คความพร้อมญี่ปุ่น-เจ้าภาพ‘โอลิมปิกโตเกียว’ ขณะยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ในญี่ปุ่นทะลุ 500,000 รายและในบางจังหวัดมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันทำให้ทางการเตรียมประกาศใช้มาตรการคุมเข้มรอบใหม่

เหลือเวลาอีกประมาณ 100 วันก็จะถึงมหกรรมกีฬาโลก “โตเกียว โอลิมปิก 2020”แต่ปัญหาคือความพร้อมของประเทศเจ้าภาพ โดยเฉพาะมาตรการปลอดภัยจากโรคโควิด-19 เพราะปัจจุบัน ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชนในประเทศไปได้ไม่ถึง 1% ถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก

ขณะที่ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ยอดป่วยโควิด-19ในกรุงโตเกียวทะยานสูงสุดในรอบ 2 เดือน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ในโอซากาเพิ่มขึ้นใกล้ 1 พันราย และรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินในสัปดาห์หน้า

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาอาสาสมัครที่ดูแลนักกีฬาชาติต่างๆ รวมทั้งอาสาสมัครที่ร่วมสังเกตุการณ์การแข่งขันมหกรรมกีฬาครั้งนี้ สอบถามไปยังคณะเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ว่าพวกเขาจะได้รับการป้องกันจากโรคโควิด-19อย่างไร ก็ได้รับคำตอบง่ายๆว่าพวกเขาจะได้รับแจกเจลล้างมือขวดเล็กๆและหน้ากากอนามัยคนละ2ชิ้น

“พวกเขาไม่พูดถึงวัคซีน ไม่แม้แต่จะพูดว่าจะมีการทดลองฉีดวัคซีนกับเรา”บาร์บารา โฮลธัส อาสาสมัครชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาชาวญี่ปุ่นของเยอรมนีในกรุงโตเกียว กล่าว

โอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ถูกเลื่อนมา1ปีเต็มเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงสร้างความไม่มั่นใจแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลโตเกียวจะทำหน้าที่เจ้าภาพการแข่งขันกีฬาสำคัญที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากทั้งอาสาสมัคร นักกีฬา เจ้าหน้าที่ตลอดจนประชาชนชาวญี่ปุ่นได้อย่างปลอดภัยจากโรคโควิด-19ได้อย่างไร

“ความกังวลในเรื่องนี้รุนแรงขึ้นจากสถานการณ์รับมือโควิด-19 ระลอกที่4 ของรัฐบาล โดยข้อมูลของทางการญี่ปุ่น เมื่อวันเสาร์(10เม.ย.)ระบุว่า ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ในญี่ปุ่นทะลุ 500,000 รายและในบางจังหวัดซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวัน ทางการเตรียมประกาศใช้มาตรการคุมเข้ม ด้วยความหวังว่าจะช่วยบรรเทาการระบาดได้”ฮิเดกิ โอกะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ไซตามะ กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถควบคุมการระบาดระลอกล่าสุดได้ก่อนที่โอลิมปิก โตเกียวจะเริ่มเปิดฉากในวันที่ 23 ก.ค.

โอกะ อ้างถึงคำพูดของรัฐบาลที่ว่าจะฉีดวัคซีนให้คนสูงอายุภายในเดือนมิ.ย.แต่ในความเป็นจริง แม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดก็ยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเป้าที่ประกาศไว้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

โอกะ มีความเห็นว่า รัฐบาลควรฉีดวัคซีนให้นักกีฬาทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 แต่รัฐบาลคัดค้านเรื่องนี้หลังจากสื่อในประเทศรายงานว่า นักกีฬาโอลิมปิกได้สิทธิพิเศษในการฉีดวัคซีนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่น

เมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จาก Pfizer-BioNTech เป็นกรณีฉุกเฉิน เป็นวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 95% ถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวอื่นๆ ในขณะนี้

นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นยังตั้งเป้าสั่งซื้อและสั่งจองวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรราว 126 ล้านคน ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดยผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดยสำนักข่าวเกียวโดพบว่า ชาวญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามเพียง 63.1% เท่านั้นที่ระบุว่าจะเข้ารับการฉีดวัคซีน ขณะที่ 27.4% ยังคงไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน

เมื่อวันจันทร์ (12 เม.ย.)นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะของญี่ปุ่น ย้ำอีกครั้งว่าจะฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19แก่ประชาชนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปลายเดือนมิ.ย.โดยจนถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วจำนวน 1.1 ล้านคนจาก 126 ล้านคน ถือว่ายังไม่ถึง 1% ของประชากร ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่2 ได้รับการฉีดไปแค่ 0.4% เท่านั้น

โอกะ จากมหาวิทยาลัยไซตามะ ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกังวลของบรรดาอาสาสมัครว่า “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวอาจจะเป็นตัวการในการแพร่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ไม่เฉพาะทั่วประเทศญี่ปุ่นแต่แพร่ไปทั่วโลก ส่วนระบบการให้บริการของโรงพยาบาลในญี่ปุ่นที่ทุกวันนี้ก็ต้องรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากอยู่แล้ว อาจจะไม่สามารถรับมือผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ามากระทันหันได้ หากมีนักกีฬาและอาสาสมัครติดเชื้อไวรัสอันตรายตัวนี้จำนวนมาก”

ในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น คณะผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ระบุว่า “คณะผู้จัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นจะคลี่คลายไปในทางที่ดีก่อนหน้าที่จะถึงวันแข่งขันกีฬา ”เรายังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกฝาย รวมทั้งเตรียมประกาศมาตรการต่างๆเพื่อทำให้การแข่งขันกีฬาในช่วงฤดูร้อนนี้มีความปลอดภัยในทุกด้าน"

“ฟิลเบิร์ท โอโนะ” อาสาสมัครโอลิมปิก โตเกียวบอกว่า เชื่อใจในรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะทำให้การแข่งขันกีฬาที่กำลังจะเกิดขึ้นมีความปลอดภัย รวมทั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี)ที่จะทำทุกวิถีทางให้นักกีฬาและอาสาสมัครปลอดภัย

“ชาวญี่ปุ่น รักการเป็นพยานเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ส่วนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ก็มีความสำคัญอย่างมากทางประวัติศาสตร์ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะแตกต่างจากกีฬาโอลิมปิกครั้งอื่นๆ ซึ่งผมกำลังเฝ้ารอดู เพราะอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร”โอโนะ กล่าว

แต่โฮลธัส ไม่เชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิกจะเดินหน้าต่อไปด้วยการเตรียมการอย่างที่เป็นอยู่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เป็นสูตรสำหรับซุปเปอร์สเปรดเดอร์ “เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะรุนแรงแค่ไหน แต่จะเกิดความเสียหายแน่นอนเมื่อมีการแข่งขัน และทันทีที่ทุกคนบินเข้ามาเพื่อร่วมมหกรรมกีฬานี้ ก็จะไม่มีการถอยหลังกลับ”