ดอน คีโฮเต

รู้จัก "ดอน คีโฮเต" ผู้ที่หลงใหลในเรื่องแต่งเกี่ยวกับการผจญภัยต่อสู้ จนหลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง ขณะที่ผูคนในสมัยนั้นกำลังจะละทิ้งจารีตประเพณี ความคิด ภูมิปัญญาต่างๆ ในยุคก่อนๆ ไป เนื่องจากการค้นพบโลกใหม่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ

ดอน คีโฮเต เป็นเรื่องชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่หลงใหลในเรื่องแต่งเกี่ยวกับการผจญภัยต่อสู้ จนหลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง

ดอน คีโฮเต เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายสูงวัยคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานทำการอะไรแล้ว มีอายุอานามปาเข้าไปกว่าห้าสิบแล้ว ในสมัยก่อน (กึ่งศตวรรษที่สิบหก) คนอายุขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นวัยชรา ในขณะที่คนอายุห้าสิบกว่าในโลกสมัยใหม่ยังต้องทำงานทำการอยู่

ถ้าเป็นนักการเมืองก็ยิ่งไม่ถือว่าแก่เลยเข้าไปใหญ่ เพราะขนาดนักการเมืองหลายคนเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวัยห้าสิบกว่า หลายคนยังบอกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ และตอนที่คุณอภิสิทธิ์อายุสี่สิบกว่า ก็ยังถูกหาว่ายังอายุน้อยในทางการเมือง สมควรให้รอไปก่อนได้ เพราะวัยยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตาแก่ในเรื่อง ดอน คีโฮเต นี้มีชื่อว่า อลองโซ คีฮาโน ท่าทางจะเคยเป็นผู้ดีเก่า อาศัยอยู่ในเมืองชนบทแห่งหนึ่งของสเปนที่ชื่อว่า ลา มันช่า ตาแก่คีฮาโนนี้เกิดหลงใหลในเรื่องแต่งเกี่ยวกับการผจญภัยต่อสู้เพื่อแสดงความกล้าหาญและความรักในเกียรติของประดาอัศวินทั้งหลาย 

ในสมัยกึ่งศตวรรษที่สิบหกนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับสุภาพบุรุษอัศวินผู้กล้านั้นเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตำนานไปแล้วสำหรับคนในสมัยนั้น ที่เป็นช่วงที่กำลังจะละทิ้งจารีตประเพณี ความคิด ภูมิปัญญาต่างๆ ในยุคก่อนๆไป เนื่องจากการค้นพบโลกใหม่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ช่วงเวลานั้น กล่าวได้ว่า ยุโรปกำลังเดินทางเข้าสู่การวิวาทะระหว่างผู้ที่นิยมภูมิปัญญาโบราณกับผู้ที่นิยมภูมิปัญญาสมัยใหม่ (the Quarrel between the Ancients and the Moderns)

ตาแก่คีฮาโนอดตาหลับขับตานอน “ไม่กินข้าวกินปลา” เอาแต่หมกมุ่นอ่านเรื่องราวอัศวินอย่างไม่ลืมหูลืมตา คงไม่ต่างจากพวกที่นิยมอ่านหนังสือกำลังภายในของจีนในบ้านเรา ที่ตั้งหน้าตั้งตาอ่านกันได้เป็นวักเป็นเวร จนบางคนพูดอะไรออกมาเป็นสำนวนกำลังภายในไปเสียหมด และแน่นอนว่าคงมีไม่น้อยที่ยามเดินออกจากบ้าน ก็คงนึกว่าตนเป็นเอี้ยก้วย หรือบางคนขณะนั่งกินเหล้าอยู่ ก็คงคิดว่าตัวเองเป็นลี้กิมฮวง เป็นต้น

ตาแก่คีฮาโนก็เช่นกัน แกอ่านเรื่องอัศวินมากจนถึงขั้น “อิน” กับเหตุการณ์เรื่องราวในหนังสือ ขนาดคิดว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ขนาดเหตุการณ์บางตอนเป็นเรื่องเกินจริงชัดๆ แกก็ยังอุตส่าห์หลับหูหลับตาเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงได้  ไปๆ มาๆ ก็คงไม่ต่างจากพวกที่อ่านมังกรหยกมากๆ จนบางครั้งเผลอเชื่อว่า มันมีคัมภีร์วรยุทธล้ำเลิศอยู่ในโลกใบนี้จริงๆ เพียงแต่ต้องพยายามหามันให้พบเท่านั้น  

ความเหมือนกันระหว่าง ดอน คีโฮเต และหนังสือกำลังภายใน ก็คือ ทั้งสองเป็นเรื่องแต่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ดอน คีโฮเต ไม่ได้เป็นข้อเขียนที่เกิดขึ้นในยุคที่ยุโรปเต็มไปด้วยอัศวิน เฉกเช่นเดียวกันที่หนังสือกำลังภายในก็ไม่ได้ถูกแต่งขึ้นในยุคที่สังคมจีนเต็มไปด้วยจอมวรยุทธ ที่เดินเพ่นพ่านก่อเรื่องประลองยุทธแก้แค้นกันจนโรงเตี๊ยมแตกพินาศ

เมื่อหมกมุ่นจนถึงขีดสุด คีฮาโนก็ออกอาการ สมมุติตัวเป็นนักรบผู้กล้า อุตส่าห์ไปหา “เสื้อเกราะเก่าๆ” มาใส่ ดัดแปลงเอาเศษข้าวของมาทำเป็นหมวกนักรบ ดูๆ ไปแล้ว ก็คงไม่ต่างจากเด็กๆ ที่ดูหนังกำลังภายในมากๆ หรือดูหนังพวกมดเอ๊กซ์ แล้วก็ไปหาเสื้อผ้าข้าวของในบ้านมาดัดแปลงเป็นชุดจอมยุทธหรือชุดมดเอ็กซ์อะไรต่างๆ หรือเอาก้านกล้วยมาทำเป็นม้าสีหมอก เป็นต้น  

จะแตกต่างกันก็เพียง คีฮาโนมันแก่แล้ว แต่ก็ยังอุตส่าห์มีจินตนาการแบบเด็กๆ ของแบบนี้ถ้าเด็กทำ ก็ไม่มีใครจะสนใจว่าอะไร อย่างมากพ่อแม่ก็จะร้องบอกว่า “เบาๆ หน่อยนะลูก เดี๋ยวข้าวของพัง แล้วถ้าถึงเวลา ก็ต้องกินข้าวนะลูก!” แต่เมื่อคนแก่อย่างคีฮาโนทำ ใครๆ ก็ต้องเห็นว่ามันเข้าข่ายบ้า!

คีฮาโน สมมุติให้ม้าผอมโซของเขาเป็นม้าคู่ใจนักรบผู้กล้า แล้วก็เริ่มออกเดินทางผจญภัยเพื่อปราบอธรรม ด้วยความกล้าและรักในเกียรติของบุรุษอาชาไนย ถ้าเป็นของจีนก็จอมยุทธ ถ้าเป็นของฝรั่งก็ต้องเป็นอัศวิน แต่อัศวินของฝรั่งต้องมีคนแต่งตั้ง ไม่ใช่จู่ๆ อยากจะเป็นก็เป็นได้ ดังนั้น เขาจึงไป “เสาะหาขุนนางผู้ใหญ่” ให้แต่งตั้งเขาเป็นอัศวิน ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เจ้าของโรงเตี๊ยมในหมู่บ้านนั่นแหละ ซึ่งด้วยความบ้าไปแล้วของคีฮาโน จึงทำให้เขาจินตนาการไปว่า เจ้าของโรงเตี๊ยมเป็นขุนนางผู้เป็นเจ้าของอัครมหาปราสาท คนรอบข้างก็ไม่อยากขัด ก็เล่นบ้ากันไปด้วย อาจจะทั้งสงสารและต้องการให้มันจบๆ ผ่านๆ ไปเสียที

ความบ้าของคีฮาโนยังทำงานต่อไป เขาอุปโหลกให้คนรอบข้างเป็นโน่นเป็นนี่ตามจินตนาการที่เขามีเกี่ยวกับเรื่องราวของอัศวิน แล้วก็พยายามที่จะเดินทางผจญภัยไปโน่นมานี่ เห็นกังหันลมเป็นอสูรร้าย คีฮาโนวิ่งเข้าชนพุ่งเข้าใส่จนตัวเองเจ็บตัวหายนะ จนท้ายที่สุด เขาก็ถูกนำตัวกลับมาบ้าน และก็หายบ้า พ้นออกมาจากโลกอัศวินในจินตนาการ เลิกคิดจะเป็นอัศวิน กลับมานอนหดหู่ห่อเหี่ยวหัวใจ และในที่สุดก็ตาย

เขาว่ากันว่า ภาคแรกนั้น เซอวานเตส (Miguel de Cervantes Saavedra: ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๕๔๗-๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๖๑๖) ผู้เขียน ทำเรื่องให้ตลกขบขันจากความบ้าเลอะเทอะฟุ้งของตาแก่คีฮาโน ส่วนภาคสอง ผู้เขียนดูจะนำเสนอให้เป็นเรื่องจริงจังมีปรัชญาอะไรแฝงอยู่ แต่กระนั้นโดยรวม ถือว่าเรื่อง ดอน คีโฮเต ของผู้แต่ง คือ เป็นนวนิยาย (novel) เล่มแรกๆของโลก เป็นเรื่องแต่งที่มุ่งล้อเลียนให้เกิดความตลกขบขันมากกว่าที่จะเป็นเรื่องเชิดชูอุดมการณ์อุดมคติอันสูงส่งอะไรนัก

ทั้งๆที่ผู้แต่งก็วางเรื่องชัดเจนให้เห็นทนโท่อยู่แล้วว่า ตาแก่คนหนึ่งอ่านหนังสืออัศวินมากเกินไปเสียจนเสียสติ แล้วก็เกิดออกอาการเป็นอัศวินขึ้นมา คนอ่านหลายๆคน หรือคนที่ดูละครหลายๆคนก็ยังอุตส่าห์ “อิน” และบ้าตามได้ลงคอ มันดูไม่ต่างจากจากคีฮาโน ที่อ่านมากเสียจน “หลุด” ไปจากโลกแห่งความเป็นจริง ผู้แต่งเขาเขียนล้อออกอย่างนั้น คนอ่านหรือคนชมละครในปัจจุบันก็ยัง “หลุด” ไปได้    

อย่างไรก็ตาม อย่างนี้ก็คงต้องยกย่องผู้แต่งว่า “แน่จริงๆ” ที่ทำให้คนอ่านเป็นแบบคีฮาโนได้ ทั้งๆ ที่ก็บอกไว้แล้วว่า คีฮาโน “อ่านมาก” เสียจนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  แต่ถ้าเจตนาของผู้แต่งต้องการจะถล่มคติความเชื่อในเรื่องอัศวิน ก็เห็นทีต้องบอกว่า เขาล้มเหลว เพราะนวนิยายของเขากลับส่งผลในทางตรงกันข้ามกับที่เขามุ่งหวัง

เจตนาที่แท้จริงของเซอวานเตสจะเป็นอย่างไรนั้น ผมคงต้องหาโอกาสศึกษาตีความกันอย่างจริงๆ จังๆ ต่อไป แต่ที่แน่ๆก็คือ ความพยายามที่จะวางกรอบควบคุมการตีความให้จำกัดอยู่แต่ในนัยความหมายที่ต้องการนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังที่มีผู้รู้เคยเรียกสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “hermeneutic flow” 

(ปรับปรุงจากบทความที่เคยตีพิมพ์ใน FineArt ปลายปี พ.ศ. 2552)