สธ.เผย90%ติด'โควิด19'ไม่มี-มีอาการน้อย แต่แพร่เร็ว

สธ.เผย90%ติด'โควิด19'ไม่มี-มีอาการน้อย แต่แพร่เร็ว

โควิด19ทั่วโลกแนวโน้มขาขึ้น ไทยติดใหม่ทะลุ 1,335 ราย พบสัญญาณติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มขึ้น ขอให้ยกเลิกกิจกรรมรวมคน-งดปาร์ตี้ส่วนตัว หลังสงกรานต์ สั่งทั่วประเทศลุยตรวจคัดกรอง-ติดตาม


เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา2019 และประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การระบาดทั่วโลกกลัยมามีแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอินเดีย พบติดเชื้อวันเดียวสูงขึ้นถึง 185,248 ราย เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนบราซิล สหรัฐอเมริกาเริ่มระบาดมากขึ้นเห็นชัดเจน ขณะที่เพื่อนบ้านไทย อย่างกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งญี่ปุ่น ตัวเลขไม่ลดลง ดังนั้น สถานการณ์ยังน่ากังวล โดยผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมถึง 138,013,074 ราย รอบวันที่ผ่านมาสูงถึง 735,486 ราย และเสียชีวิตสะสม 2,971,864 ราย

ติดเชื้อ 90%ไม่มี-มีอาการน้อย
สำหรับประเทศไทยตัวเลขติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 1,335 รายเป็นครั้งแรก พบจากระบบบริการรพ. 789 ราย การค้นหาเชิงรุก 537 ราย และจากต่างประเทศ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ข้อสังเกตการระบาดรอบนี้เร็ว เพราะเชื้อเปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์อังกฤษ B 1.1.7. ซึ่งเป็นสายพันธุ์ระบาดค่อนข้างเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการประมาณ 90% แต่ความสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งในการควบคุมสถาาการณ์ที่ขณะนี้ตัวเลขพุ่งขึ้น ความร่วมมือร่วมใจกันจึงจะช่วยกัน ซึ่งที่ผ่านมามีมาตรการปิดจุดเสี่ยง สถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และเมื่อ13เม.ย.นายกรัฐมนตรีมีการสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการ Work from Home เต็มรูปแบบหลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วยเช่นกัน จะช่วยในเรื่องการควบคุมโรคได้

9 จ.สีแดงระบาดหนัก
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า หากแบ่งตามระดับสีทางระบาดวิทยา ข้อมูล ณ วันที่ เม.ย.2564 โดยเฉพาะสีแดงเข้ม คือ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก มากกว่า 100 รายขึ้นไป ขณะนี้มี 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี และสระแก้ว โดยจังหวัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนที่ของคน ไม่ว่าคนเข้าคนออก มาตรการควบคุมจุดเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าสถานบันเทิง หรือการจัดปาร์ตี้ระหว่างบุคคล ต้องเข้มงวดทั้งจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และบุคคลเสี่ยง

ขอให้งดปาร์ตี้ภายในครอบครัว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาจำนวนผู้ป่วยรายวัน ระยะ 1 เดือนข้างหน้า มีการคาดการณ์ทางวิชาการและระบาดวิทยาว่า หากไม่มีมาตรการใดๆ ในทางทฤษฎีตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 9,140 ราย แต่เมื่อมีมาตรการปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงตัวเลขจเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 ราย ซึ่งตัวเลขขณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล งดปารตี้กลุ่มคนใกล้ชิด จะลดตัวเลขผู้ป่วยเหลือ 934 ราย แต่ในมุมสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการ เพราะการมีผู้ติดเชื้อระดับหลายร้อยคนจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ จึงต้องเพิ่มมาตรการลดกิจกรรมการรวมตัวที่ไม่จำเป็น ทั้งกิจกรรมสาธารณะ หรือกิจกรรมในครอบครัว อย่างปาร์ตี้ส่วนบุคคลอยู่ในครอบครัว แต่มารวมตัวกันจากหลายๆที่ก็ทำให้ติดเชื้อ จะทำให้ผู้ป่วยลดเหลือ 593 ราย ซึ่งภาพรวมก็ยังไม่พอ จึงต้องเพิ่มมาตรการ เช่น การทำงานที่บ้าน WFH ก็จะลดตัวเลขติดเชื้อเหลือ 391 ราย โดยการคาดการณ์ตรงนี้จะมีเสนอและปรับเพิ่มมาตรการต่างๆ ต่อไป

สัญญาณติดในครอบครัวเพิ่มขึ้น

“การระบาดของโรคโควิด19 ระลอกนี้เดือน เม.ย. กระจายค่อนข้างเร็ว เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ กลุ่มเสี่ยง อยู่ในวัยทำงาน กลุ่มนักศึกษาที่กลับภูมิลำเนา ซึ่งเริ่มมีสัญญาณพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นท่านที่เคยไปสถานบันเทิง เป็นนักศึกษาไปออกค่าย และไปพบญาติพี่น้อง หรืออยู่ในครอบครัว ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่ที่เราพบ ผู้สูงอายุไม่ได้ไปงานปาร์ตี้แต่ติดเชื้อจากคนในบ้าน และกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อแล้วรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตได้” นพ.โอภาส กล่าว

หลังสงกรานต์ลุยคัดกรอง-ติดตาม
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงหลังสงกรานต์ สธ.ขอให้เน้นการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคน และผู้ติดเชื้อแล้วต้องได้รับการรักษาในรพ.ทั้งรัฐ และเอกชน รวมทั้งรพ.สนาม และฮอสพิเทล เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย แม้อาการไม่มากในส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายส่วนอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปอดบวมและอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และหากไม่อยู่รพ. ก็มีโอกาสแพร่เชื้อในครอบครัว หรือในชุมชน จึงขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันตัวเอง การเดินทางขอให้จำเป็นเท่านั้น และหลังสงกรานต์ขอให้ทำงานที่บ้าน Work from Home ในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในจังหวัดเสี่ยง อย่างน้อย 2 สัปดาห์

ขอให้ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงข้อสรุปการประชุมกระทรวงสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมมีประเด็น 3 เรื่อง 1. ขณะนี้พบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 1 พันราย ซึ่งที่ประชุมมีการเสนอมาตรการสำคัญ นอกเหนือจากการปิดสถานบันเทิง โดยให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง ลดการรวมตัวกัน และขอให้พี่น้องประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ 2. ในเรื่องการบริหารจัดการเตียง ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกการทำงานบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มจำนวนเตียง และ3.วัคซีนโควิด19 และให้เร่งฉีดวัคซีนเต็มที่ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าต้องได้วัคซีน 100%


"กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ขอยืนยัน สิ่งที่ทำงานในการเลือกวัคซีน ในการจัดหาวัคซีน ในการจัดการวัคซีนไม่ได้เกิดจากหน่วยงานสธ.เพียงอย่างเดียว แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกสธ. รวมถึงในระดับนานาชาติ การบริหารจัดการวัคซีนจึงทำด้วยมาตรฐานในระดับนานาชาติ ขอยืนยันด้วยข้อมูลทางระบาดวิทยา และข้อมูลวิชาการว่า วัคซีนทั้ง 2 ตัวที่นำมาใช้ในไทยทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ"นพ.รุ่งเรืองกล่าว

ขยายเตียงเพิ่มรองรับผู้ป่วย
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงว่า ในภาพรวมของเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล (ข้อมูล ณ 20.00น. วันที่ 13 เม.ย.2564) สำรองเตียงแล้วทั้งหมด 6,185 เตียง ใช้แล้ว 3,460 ว่าง 2,725 เตียง แยกเป็น 1.เฉพาะเตียงในรพ.ทั้งหมด 4,703 เตียง.ครองเตียง 2,958 เตียงว่าง 1,745 เตียงในส่วนของกรมการแพทย์159 เตียง กรมควบคุมโรค 0 เตียง กรมสุขภาพจิต 45 เตียง กระทรวงกลาโหม 58 เตียงกรุงเทพฯ 304เตียง โรงพยาบาลตำรวจ 0เตียงโรงเรียนแพทย์ 181 เตียง และเอกชน 1,000 เตียง และ2.รพ.สนามและฮอสพิเทล ทั้งหมด 1,482 เตียง ครองเตียง 502 เตียง ว่าง 980 เตียง อย่างไรก็ตาม มีการจัดหาฮอสพิเทลเพิ่มได้อีก 2,385 เตียง ซึ่งว่างอีก 1,416 เตียง และขยายเตียงในภาครัฐเพิ่มขึ้นอีกด้วย


"ผู้ติดเชื้อทุกรายในคนไทยและคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งสงสัยว่า เตียงว่าง แล้วทำไมถึงยังเข้าไม่ได้ เป็นเพราะเตียงที่มีอยู่ในระบบนั้นส่วนหนึ่งเป็นเตียง ICU ต้องเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยหนัก สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เป็นผู้ป่วยหนัก แต่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีอาการ มีไข้เล็กน้อย แต่ใน 5 !7 วันหรือหลังจากนี้ไปแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นคำว่าหนักได้เสมอ จึงจำเป็นต้องใช้ ICU ในส่วนเตียงICUจึงไม่สามารถให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเข้าไปอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ในการประสานเรื่องเตียงหากไปตรวจแล้วรพ.นั้นไม่มีเตียงรองรับให้ประสานที่สายด่วน 1669 หากเป็นการจัดหาเตียงในกทม. สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สายด่วนสปสช 1330 และเพิ่มช่องทางแอปพลิเคชั่นในไลน์ "สบายดีบอต" ทั้งนี้ ระหว่างที่รอเตียงรือต้องมีการประสานงาน ขอให้รออยู่ที่บ้าน อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองขับรถออกไปหาเตียงตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อลดการกระจายเชื้อ โดยจัดระบบกลไกที่จะรองรับให้ได้รับเตียงอย่างเหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม"นพ.ณัฐพงศ์กล่าว