เจาะลึก‘อ๊อด มิยาบิ’ เครือข่ายธุรกิจคนมีสี

เจาะลึก‘อ๊อด มิยาบิ’  เครือข่ายธุรกิจคนมีสี

มีข้อมูลว่า “อ๊อด มิยาบิ” หรือ “ปาป้าซัง” มีชื่อจริงว่า เกียรติพงษ์ คำต่าย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งคริสตัล และเอเมอรัลด์ สำหรับเส้นทางของ “ปาป้าซัง” รายนี้ เริ่มต้นจากการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ “มิยาบิ” และขยายเป็นบาร์ญี่ปุ่น

จากประเด็นสั่งเด้งฟ้าผ่าผู้กำกับ และ สารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ ซึ่งดูเหมือนทุกครั้งที่มีปัญหาขึ้นในท้องที่ไหน ก็มักจะจบด้วยการสั่งย้ายไปช่วยราชการ เหมือนการ “เด้ง 5 เสือโรงพัก” แต่ประเด็นการดำเนินคดีและสืบหาตัวผู้อยู่เบื้องหลัง คริสตัล คลับ กับ เอเมอรัลด์ คลับ สถานบันเทิงประเภท “เลานจ์” ระดับไฮเอนด์ ที่เปิดเกินเวลา แถมไม่มีใบอนุญาต ต้องสงสัยเป็นแหล่งแพร่โควิดยังคงเดินหน้าต่อไป

และคนที่ยังเดินหน้าออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง ก็คือ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และอดีตผู้ประกอบการสถานบริการรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” เพิ่มเติม พร้อมย้ำว่า เจ้าของของสถานบริการ 2 แห่งนี้คือ “เสี่ยอ๊อด” หรือชื่อในแวดวงเรียกว่า “อ๊อด มิยาบิ” ซึ่งมีชื่อเรียกที่พนักงานเรียกกันว่า “ปาป้าซัง” 

โดยมีข้อมูลว่า “อ๊อด มิยาบิ” หรือ “ปาป้าซัง” มีชื่อจริงว่า นายเกียรติพงษ์ คำต่าย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งคริสตัล และเอมเมอรัลด์

สำหรับเส้นทางของ “ปาป้าซัง” รายนี้ “ชูวิทย์” เล่าว่า เริ่มต้นจากการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ “มิยาบิ” และขยายเป็นบาร์ญี่ปุ่นชื่อเดียวกัน โดยจะรับเฉพาะแขกต่างชาติและระดับวีไอพี 

หลังจากนั้นได้ขยับเข้าสู่วงการสถานบริการแบบ “เลานจ์” ในชื่อ “คริสตัล เอ็กซคลูซีฟ คลับ” รับบทบาทหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทที่เปิดสำหรับเป็นผู้ประกอบกิจการเลานจ์ แต่ก็มี “พรรคพวก” จากหลากหลายวงการช่วยกันถือหุ้น

ชูวิทย์ ยังบอกอีกว่า เมื่อธุรกิจที่ “คริสตัล เอ็กซคลูซีฟ คลับ” รุ่งโรจน์ขึ้นมา “ปาป้าซัง” ก็มองเห็นช่องทางว่า สถานบริการแบบ “เลานจ์” ที่เน้นรับเฉพาะแขกวีไอพี ฟันกำไรอย่างงดงาม จึงตั้งบริษัทและขยายกิจการชื่อ “เอเมอรัลด์ คลับ” ขึ้นมา

อีกประเด็นที่น่าสนใจซึ่งหลายคนตั้งคำถามก็คือ ทำไมคลับหรูทั้ง 2 แห่งจึงไม่ขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงให้ถูกกฎหมายเสีย ประเด็นนี้ชูวิทย์บอกว่า การไม่จดทะเบียนเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะไม่ต้องขึ้นทะเบียนว่าใครเป็นเจ้าของสถานบริการ เมื่อถูกจับก็ส่งลูกน้องไปถูกดำเนินคดี หรือติดคุกแทน แต่หากจดทะเบียนเป็นสถานบริการ จะต้องมีชื่อเจ้าของตัวจริง รวมทั้งหุ้นส่วน เมื่อถูกดำเนินคดีก็จะกลายเป็น “หนังเรื่องยาว”

ชูวิทย์ ยังบอกด้วยว่า การเปิดกิจการลักษณะนี้จะต้องมีการ “เคลียร์” กับเจ้าหน้าที่หลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจท้องที่ หรือเจ้าหน้าที่จากสังกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียกง่ายๆ ว่า “จ่ายทุกระดับประทับใจ” ไม่ต่างจากการทำธุรกิจบ่อนการพนัน แต่การทำบ่อนพนันจะต้อง “เคลียร์” ในอัตราที่สูงกว่า

“ทีมข่าวอาชญากรรม” ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยัง “อ๊อด มิยาบิ” ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าว ปรากฏว่าเมื่อโทรไป มีคนรับสาย และบอกว่าตัวเองชื่อ “อ๊อด” แต่ตอนนี้เกิดอาการไม่สบาย เนื่องจากเครียด จึงขอไม่ให้ข้อมูลใดๆ กับทีมข่าว

ก่อนหน้านี้ “ทีมข่าวข้นคนข่าว” ได้เคยโทรศัพท์ไปหา “เสี่ยอ๊อด” มาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเสี่ยอ๊อดก็รับสาย และยอมรับว่าตนเองคือบุคคลตามที่เป็นข่าว แต่ไม่ยอมให้ข้อมูลทุกเรื่องที่นายชูวิทย์ออกมาแฉ และไม่ขอใช้สิทธิ์พาดพิง ชี้แจงผ่านสื่อทุกแขนงด้วย

สำหรับบริษัทที่คาดว่าประกอบกิจการร้านมิยาบิ ซึ่งมีทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นและบาร์ญี่ปุ่น ซึ่งมีคาราโอเกะด้วยนั้น ชื่อ บริษัท กินซ่า เอ แอนด์ ที จำกัด เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น พบว่ามีชื่อ “นายเกียรติศักดิ์ คำต่าย” ถือหุ้นใหญ่เหมือนกับ คริสตัล และเอมเมอรัลด์ และยังมีชื่อ “นายพันธนะ นุชนารถ” ถือหุ้นอยู่ด้วย โดยบุคคลชื่อนี้ ไปพ้องกับ

“นายตำรวจใหญ่ระดับนายพล”  ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และปัจจุบันสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ยิ่งสาว ยิ่งเจอ เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้ เรื่องราวของ ”อ๊อด มิยาบิ” จึงถูกสังคมขุดคุ้ยถึงเส้นสาย เครือข่ายคนมีสี และผู้มีอิทธิพลเบื้องหลังอย่างไม่หยุด

เขียนโดย : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์