หนทางรอด ‘แรงงานนอกระบบ’

เปิดบทวิเคราะห์ แนวทางการอยู่รอดสำหรับ "แรงงานนอกระบบ" ในโลกใหม่หลังโควิด-19 เป็นอย่างไร? ภาครัฐควรมีกลไกช่วยเหลือหรือกระตุ้นการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อย่างไรบ้าง?

ต่อจากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงโครงสร้างของแรงงานนอกระบบ และผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบประมาณ 3 ล้านคนที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขาดรายได้จากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้ว 1 ปี ครั้งนี้จะกล่าวถึงแนวทางการอยู่รอดสำหรับแรงงานในโลกใหม่หลังโควิด-19 โดยหัวใจสำคัญของการอยู่รอด คือ แรงงานจะต้องปรับตัว ขณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นพี่เลี้ยง ช่วยติดอาวุธชุดใหม่และสร้างภูมิต้านทานให้แก่แรงงานนอกระบบ

เมื่อมองไปข้างหน้า แม้ว่าการท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวได้บ้าง แต่คงต้องใช้เวลาและอาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคนอีกต่อไป จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและท่องเที่ยว คำถามสำคัญคือ แรงงานนอกระบบได้วางแผนรับมือกับโลกอนาคตแล้วหรือยัง

ระยะสั้น ชัดเจนว่ามาตรการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมของรัฐกลายเป็นที่พึ่งของแรงงานนอกระบบ แต่ก็มีผลเสียให้ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูงขึ้น และจะเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือในระยะต่อไป ดังนั้น นัยของมาตรการช่วยเหลือไม่ใช่เพียงลดแรงกระแทกของรายได้ที่หายไป แต่เป็นการซื้อเวลาให้แรงงานได้วางแผนปรับตัวให้สามารถยืนหยัดอยู่ในโลกใหม่ด้วยกำลังของตัวเอง

ระยะยาว แนวทางการปรับตัวและการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้เขียนขอสรุปเป็น 3 เสาหลัก ดังนี้ “เพิ่มรายได้ พัฒนาทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน” ผ่านกลไกของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ได้

(1) เพิ่มรายได้ คือ การเพิ่มความสามารถในการหารายได้ อาทิ การหารายได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หรือการเปลี่ยนอาชีพใหม่ที่สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาด เช่น ธุรกิจนวดสปาอาจเปลี่ยนไปทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับกระแสสังคมสูงวัย หรือยกระดับบริการให้เป็นสปาเชิงสุขภาพที่ผนวกความรู้ด้านกายวิภาคตามกระแสความนิยม

โดยภาครัฐเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ทั้งช่วยให้เข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนงาน ตลอดจนเงินทุนในการพัฒนาและดูแลแพลตฟอร์ม หรือช่องทางการค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการเป็นผู้นำร่องเพื่อสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่มีฐานรายได้ที่สูงขึ้นผ่านโครงการจ้างงานในท้องถิ่น เช่น โครงการจ้างงานอาสาบริบาลดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

(2) พัฒนาทักษะ คือ การยกระดับปรับทักษะฝีมือ (Upskilling/Reskilling) ให้ตรงตามความต้องการโลกหลังโควิด-19 ปัจจุบันมีสถาบันและหลักสูตรพัฒนาทักษะแรงงานหลายแห่งที่พร้อมให้การฝึกอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่น หลักสูตรสร้างแบรนด์ธุรกิจดิจิทัลและการขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Skilllane, Skooldio, สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) เป็นต้น และแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ทักษะกับตำแหน่งงาน เช่น “ไทยมีงานทำ” อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรสร้างระบบแรงจูงใจให้แรงงานเข้าร่วมการพัฒนาทักษะ อาทิ การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ “จ่ายทีละครึ่ง” โดยจะจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่งให้ผู้เรียนหลังผ่านการประเมินทักษะ เป็นต้น

(3) สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน คือ การสร้างหลักประกันทั้งสวัสดิการทางสังคมและความมั่นคงด้านรายได้ (Social & Income Safety Nets) ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ผ่านการเข้าร่วมระบบประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วยและทุพพลภาพ เงินสงเคราะห์บุตร เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จยามชราภาพ เป็นต้น ตลอดจนถึงการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือหลังเกษียณผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนที่เหมาะกับแรงงานที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่จำเป็นต้องออมเงินทุกเดือน และมีภาครัฐช่วยสมทบเงินออมสูงสุดร้อยละ 100 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าร่วมระบบดังกล่าว ภาครัฐจึงควรเร่งผลักดันและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบประกันสังคม หรือกองทุนการออมแห่งชาติมากขึ้น ผ่านการออกแบบและเพิ่มทางเลือกสวัสดิการให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นสอดรับกับลักษณะของแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ ที่สำคัญภาครัฐควรส่งเสริมให้แรงงานมีวินัยในการออม และเห็นความสำคัญของการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงรายรับและรายจ่าย และสามารถลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้

จากการแพร่ระบาดโควิด-19 เตือนถึงกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และมีความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา สิ่งจำเป็นที่สุดต่อการอยู่รอดของแรงงาน คือ แรงงานจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และมีภูมิคุ้มกันทั้งด้านการงานและการเงิน พร้อมรับและปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันผลักดันและเร่งติดอาวุธให้แรงงานนอกระบบ สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.)