ปลดล็อก! กิจการก๊าซฯเสรี ระยะที่ 2 หนุน 'ชิปเปอร์รายใหม่' นำเข้า 'แอลเอ็นจี'

ปลดล็อก! กิจการก๊าซฯเสรี ระยะที่ 2 หนุน 'ชิปเปอร์รายใหม่' นำเข้า 'แอลเอ็นจี'

"พลังงาน" เดินหน้าส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซฯเสรี ระยะที่ 2 วางกติการผลักดัน ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ชิปเปอร์ รายใหม่ นำเข้าก๊าซ LNG ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ด้านเอกชน เตรียมพร้อมแผนธุรกิจจัดหาLNG เสริมการแข่งขันธุรกิจไฟฟ้า

การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 ที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะดำเนินการโครงการนำร่อง, ระยะที่ 2 ระยะเปลี่ยนผ่านก่อนการเปิดเสรีเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 เปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบ เพื่อวางเป้าหมายไปสู่การแข่งขันนำเข้าก๊าซฯ ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้ถูกลง หรือมีอัตราค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยระยะที่ 1 ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็น ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายที่ 2 ของประเทศ จากเดิมมี บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) PTT เป็น Shipper รายเดียว และให้ กฟผ.ทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพื่อทดสอบระบบตาม “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม” หรือ (Third Party Access Code :TPA Code) ซึ่งได้ดำเนินการและรายงานผลต่อ กพช.เรียบร้อยแล้ว

และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยังได้พิจารณาออกใบอนุญาต Shipper ให้กับเอกชนเพิ่มเติมอีก 3 ราย คือ บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH),บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด ในเครือ GULF และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM แต่ยังไม่สามารถนำเข้า LNG ได้ เพราะยังต้องรอให้ กพช.อนุมัติกติกาเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ก่อน

ผ่านมา 4 ปี แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 เพิ่งชัดเจนขึ้น หลังที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 มีมติให้แบ่งออก 2 กลุ่ม คือ 1. ตลาดที่มีการควบคุม (Regulated Market) คือ กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจาก (Old demand) โดยมีผู้จัดหาก๊าซฯ คือ ปตท. และ New demand จากผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper ที่จัดหาก๊าซ LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ เช่น กฟผ. และ หินกองฯ

และ 2. ตลาดที่มีการควบคุมบางส่วน (Partially Regulated Market) คือ กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง เช่น กัลฟ์ และ บี.กริม

พร้อมมอบหมายให้ กกพ.ไปพิจารณารายละเอียดวิธีดำเนินการและแนวทางปฏิบัติต่างๆให้เกิดความชัดเจน รวมถึงมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ไปพิจารณาปริมาณนำเข้าก๊าซฯที่เหมาะสม เพื่อมาเสนอ กพช.พิจารณาอีกครั้งภายในไตรมาส 2ปีนี้ ก่อนเปิดให้ Shipper รายใหม่ แข่งขันนำเข้าก๊าซฯได้ในไตรมาส 3 ปีนี้

161829738630

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า หลังจาก กพช.มีมติเพิ่มเติมในแนวทางเปิดเสรีก๊าซฯนั้น กกพ.จะต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการกำกับดูแล ปตท.อย่างเต็มรูปแบบ หมายความว่า ในระยะต่อไปหาก ปตท.ต้องการนำเข้าก๊าซฯเพิ่มเติมจากสัญญาที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้น(Spot LNG) ก็จะต้องผ่านการอนุมัติจาก กกพ.

และในส่วนของ Shipper รายใหม่ๆ ทาง กกพ.ก็จะต้องตั้งหลัเกณฑ์กำกับเช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามมติกพช. คือ ในส่วนของ Regulated Market จะกำกับเต็มรูปแบบเหมือนปตท. แต่ในส่วนของ Partially Regulated Market ให้กำกับแค่ปริมาณก๊าซฯที่นำเข้า เพื่อไม่ให้มีปริมาณล้น แต่ในส่วนของราคาเป็นความรับผิดชอบของเอกชนแต่ละรายจะบริหารจัดการเอง

“ภายในเดือนเม.ย.นี้ บอร์ด กกพ.จะพิจารณารายละเอียดในมติกพช.ให้ชัดเจน เพื่อวางแนวทางปฎิบัติให้เสร็จสิ้นและเสนอกพช.ตามกรอบในไตรมาส 2 ปีนี้ ส่วนเรื่องการพิจารณาออกใบอนุญาต Shipper ให้เอกชนรายใหม่ๆ เพิ่มเติม คาดว่า จะพิจารณาได้ในเดือน พ.ค.นี้”

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีแนวโน้มจะต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและก๊าซจากเมียนมาที่จะลดลง ดังนั้น คาดว่าจะเห็นเอกชนรายใหม่เข้ามายื่นขอใบอนุญาต Shipper เพิ่มขึ้น แต่จะได้รับการอนุมัติหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่า ตามมติกพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ที่อนุมัติให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการคลังรับจ่ายก๊าซ LNGลอยน้ำ(FSRU)ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นเปลี่ยนไปร่วมลงทุนกับ ปตท.ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี โดยให้ถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ กฟผ.ได้ขยายธุรกิจเข้าไปในด้านของเชื้อเพลิงมากขึ้น

โดยการเข้าสู่ธุรกิจ LNG ก็จะมีประสบการณ์บริหารจัดการคลัง และมีผลตอบแทนทางการเงินเล็กนอยจากการเข้าไปร่วมลงทุน ขณะที่ในระยะยาวประเทศจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการแข่งขันฯ เช่น เดียวกับธุรกิจไฟฟ้า ที่เดิมมีกฟผ.เป็นผู้ผลิตรายเดียว แต่ปัจจุบันเอกชนก็สามารถเข้ามาแข่งขันผลิตไฟฟ้าได้ ก็ทำให้ระบบไฟฟ้าและต้นทุนมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับเม็ดเงินลงทุนนั้น เบื้องต้นจะเป็นการโยกเงินลงทุนจากโครงการ FSRU ที่อ่าวไทยเดิม มาใช้สำหรับลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) แทน ส่วนจะจ่ายเป็นก้อนหรือทยอยจากนั้น ยังเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจารายละเอียดกับ ปตท.ต่อไป

“กฟผ.พร้อมร่วมลงทุนคลังหนองแฟบกับปตท. เราเตรียมตัวและศึกษามาพอสมควร ทีมงานก็ส่งไปเรียนรู้ และทางปตท.เองก็แชร์ความรู้มาให้เราด้วย”

ส่วนแผนนำเข้า LNG เพิ่มเติมของ กฟผ.ในปีนี้ ในแง่ของปริมาณก๊าซฯยังต้อรอความชัดเจนจากภาครัฐ แต่ในปี2565 กฟผ.มีแผนที่จะนำเข้า 1.8 ล้านตันเพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.ตามแผน

161829740811

นพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM ระบุว่า เมื่อแนวทางเปิดเสรีก๊าซฯชัดเจนขึ้นแล้ว บี.กริม ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯ จาก กกพ. ให้นำเข้าก๊าซฯปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี ก็พร้อมที่จะนำเข้า LNG เฟสที่ 1 ในช่วงปลายปีนี้ ปริมาณ 2.5แสนตัน เพื่อมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงใน 5 โรงไฟฟ้า SPP Replacement ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี 2565 และมั่นใจว่า ต้นทุนราคาก๊าซฯเป็นราคาที่มีเสถียรภาพ โดยบริษัมเน้นจัดซื้อสัญญาระยะยาว

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แนวทางเปิดเสรีก๊าซฯดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ ปตท.เสียโอกาสในธุรกิจก๊าซไป เพราะปตท.ยังสามารถจัดตั้งบริษัทลูกที่มีสถานะเป็นเอกชนเข้าไปแข่งขันได้ในส่วนที่เป็น New demand ทั้ง Regulated Market และ Partially Regulated Market แต่อาจจะต้องสู้กับ Shipper รายใหม่ๆ เหนื่อยขึ้น เพราะต้องแข่งขันกันขาย ขณะที่ผู้ใช้ก๊าซก็มีทางเลือกมากขึ้น โดยซื้อได้จาก Pool Gasเดิมและจาก Shipper รายใหม่ๆ ก็ถือเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ส่วนแผนการนำเข้า LNG ของกลุ่มบริษัทสยามแก๊สฯ ในลักษณะของการสร้างคลังรองรับก๊าซ และดำเนินการขนส่งนอกแนวท่อก๊าซฯ ด้วยการขนส่งผ่านรถบรรทุกก๊าซฯนั้น เบื้องต้น จะเข้าค่ายกลุ่มตลาด Partially Regulated Market ที่นำก๊าซมาใช้ในโรงงานตนเองหรือขายให้กับอุตสาหกรรมฯ แต่สยามแก๊สฯ จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาต Shipper กับ กกพ. แต่ยังไม่แน่ใจว่า กกพ.จะอนุมัติหรือไม่ เพราะ กกพ.มีอำนาจพิจารณาแค่การขนส่งก๊าซฯผ่านระบบท่อก๊าซเท่านั้น ฉะนั้นเรื่องนี้ ภาครัฐอาจจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และข้อดีข้อเสียที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งหากเปิดให้ดำเนินการได้ ก็คาดว่า เอกชนรายอื่นๆ จะขอนำเข้าในลักษณะนี้เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ขอเวลาประเมินผลในทางปฎิบัติการนำเข้าก๊าซฯ ระยะที่ 2 ให้เกิดความชัดเจนสักระยะ ก่อนจะเดินหน้าผลักดันสู่การเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบต่อไป