ทำไมฉีด 'วัคซีน' ครบ 2 เข็ม ยังเสี่ยงติดโควิด-19?

ทำไมฉีด 'วัคซีน' ครบ 2 เข็ม ยังเสี่ยงติดโควิด-19?

ไขข้อข้องใจ ทำไมฉีด "วัคซีน" ครบ 2 เข็ม ยังเสี่ยงติดโควิด-19? และยังต้องคงมาตรการทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รวมถึงเว้นระยะห่างด้วย

ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 หรือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลับมาระบาดมากขึ้นเป็นระลอกใหม่ และกระจายไปในหลายจังหวัด ซึ่งการระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ และเลานจ์ ความหวังที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ รวมถึงการฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นกลับมา จึงอยู่ที่ "วัคซีนโควิด"

ซึ่งขณะนี้ไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนไปบ้างแล้ว แต่ในแง่ของปริมาณยังคงไม่มาก โดยจากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 12 เม.ย. 2564 มีจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมไปแล้วรวม 578,532 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 505,215 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 73,317 ราย แต่เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะครอบคลุมประชากร 70% หรือต้องฉีดวัคซีนได้อย่างน้อย 40 ล้านคน 

แต่ประเด็นคำถามที่ตามมาคือ ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว ยังเสี่ยงติดโควิด-19 จริงหรือไม่? 

ในประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม แล้วยังเสี่ยงติดเชื้อได้นั้น ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อธิบายว่า เมื่อเราฉีดวัคซีนไปแล้ว โดยเฉลี่ยหลังฉีดวัคซีนภูมิต้านทานจะขึ้นหลังฉีด 2-3 สัปดาห์ โดยภูมิต้านทานหลังเข็มแรกจะขึ้นมาประมาณ 60-70% ส่วนเข็มที่ 2 จะขึ้นมาประมาณ 80% 

คนที่ฉีดครบ 2 เข็มเยอะมาก แต่ยังติดเชื้อได้ใหม่ มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะว่าไม่ระวังตัวเอง คิดว่าตัวเองฉีดวัคซีนแล้ว นี่คือความประมาท โดยขอย้ำว่า แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 เข็ม ก็ไม่ได้ป้องกันได้ 100% ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสูงสุดอย่างเข้มข้น  3 ข้อ คือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นตลอดเวลา นี่คือวัคซีนตัวจริงที่จะช่วยปกป้อง

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ขณะนี้เป็นวัคซีนที่มีเป้าหมายในการป้องกันการป่วย หรือแม้กระทั่งป้องกันการป่วยรุนแรง เราพบข้อมูลว่า วัคซีนโควิด-19 อาจมีผลลดลงถ้าเราไปทำการทดลองในกลุ่มประชาชนกรที่เจอกับเชื้อบ่อยๆ

ยกตัวอย่างวัคซีนของซิโนแวค ได้ทำการทดสอบทดลองภาคสนามเฟส 3 ในประเทศบราซิล ซึ่งทำในบุคลากรทางด้านการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ เพราะบราซิลมีการระบาดของโรคที่รุนแรง เหมือนกับเราเชื้อเยอะหรือบ่อย ประสิทธิผลของวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่มันมีอยู่ก็จัดการเชื้อจำนวนมากไม่ทัน ซึ่งจะเห็นว่าข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในบราซิลอยู่ที่ราว 50% ในขณะที่ไปทดสอบที่ตุรกี กลับได้ผลดีอยู่ที่ราว 80%

นี่คือความต่างที่เจอเชื้อมากหรือน้อย เจอบ่อยหรือไม่บ่อย ถึงโยงกลับมาคำถามว่า เมื่อฉีดวัคซีนสบายเลยดีไหม ไม่ต้องใส่หน้ากาก ไม่ต้องล้างมือ ไม่เที่ยวกลางคืนก็ได้ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าเราเอาตัวเข้าไปเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขณะที่วัคซีนมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคเท่าเดิม แต่เราพาตัวเราไปเสี่ยงมากขึ้น เสมือนว่าเราพาตัวเราไปเพิ่มโอกาสต่อการป่วย 

ทั้งนี้จึงเป็นที่มาว่า วัคซีนเป็นมาตรการเสริม ควบคุมไปกับการใช้หน้ากาก การหมั่นล้างมือ การเว้นระยะห่างทางกาย เมื่อเราใช้ควบคู่กันแล้ว มันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้อย่างมาก แล้วถ้าเราฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม มันลดความเสี่ยงต่อการป่วย ต่อการแพร่กระจายโรคได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ การครอบคลุมมากๆ การระบาดจะค่อยๆ ลดลง แล้วเราจะจบการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั้งโลกได้เร็ว 

ถ้าไม่มีวัคซีน เราจะต้องคงมาตรการหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ปิดกิจการบางส่วนไปอีกนานหลายปี กว่าที่โรคจะสงบได้ด้วยตัวเอง ติดเชื้อกันเป็นระดับร้อยล้านคน แต่เมื่อเทียบกีบประชากรทั้งโลกที่มี 7,000 ล้านคน ยังมีคนที่ไม่ป่วยอีกเยอะ ถ้าเราบอกว่าจะให้โลกสงบเอง คือจะป่วยกันเต็มอิ่ม แล้วจะเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและเศรษฐกิจและสังคมอีกมาก

อย่างไรก็ตามการมีวัคซีนมา คือตัวที่จะช่วยตอบโจทย์เรื่องของการปิดจบการระบาดให้เร็วขึ้นอย่างมาก

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข