'ทีดีอาร์ไอ'แนะรัฐกู้เพิ่ม 2.4 ล้านล้านบาท เยียวยา-ฟื้นฟู 'โควิดระลอกใหม่'

'ทีดีอาร์ไอ'แนะรัฐกู้เพิ่ม 2.4 ล้านล้านบาท เยียวยา-ฟื้นฟู 'โควิดระลอกใหม่'

“ทีดีอาร์ไอ” ห่วงโควิดระลอกใหม่ กระทบเศรษฐกิจหนัก แนะรัฐบาลเตรียมแผนเยียวยาในกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 30 ล้านคน คาดใช้เงินอีก 4 แสนล้านบาท แนะให้กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 2 ล้านล้านบาทสร้างโอกาสเติบโต

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 น่ากังวลใจมาก เพราะว่าการกระบาดมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) และกระจายจาก กทม.ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ และมีแนวโน้มว่ากระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งการระบาดในครั้งนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่มีลักษณะที่รุนแรงกว่าในแง่ของการแพร่ระบาดที่ง่ายกว่า การติดเชื้อรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า

โดยการระบาดจากสถาบันเทิงในครั้งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการติดเชื้อจาก cluster แรงงานต่างด้าวที่ สมุทรสาครได้เริ่มอยู่ตัว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อของแต่ละ cluster ก่อนหน้านี้จะอยู่ในหลัก 10 กว่าคนโดยเฉลี่ยต่อวัน สะท้อนว่าเราควบคุมได้และเราได้เริ่มทดลองการเปิดเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวม จะแย่ลง เพราะมีความเสี่่ยงที่ภาครัฐจะเริ่มออกมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด และส่งผลเยอะเพราะว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญซึ่งปกติจะมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมากแต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในช่วงนี้จะทำให้การเดินทางและการใช้จ่ายลดลง ขณะที่เม็ดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอาจจะเริ่มมีจำกัดเนื่องจากที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯวงเงิน 1 ล้านล้านบาทไปแล้วจำนวนมาก

ขณะที่การระบาดระลอกใหม่หากไม่สามารถควบคุมได้โดยเร็วก็จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของการท่องเที่ยวของคนไทยและการท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่จะเข้ามายังประเทศไทยแม้เราจะมีแผนที่จะเปิดประเทศและเริ่มทดลองเปิดบางพื้นที่รับนักท่องเที่ยวแล้วก็ตาม

สำหรับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจการผลกระทบของโควิด-19 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมในวงเงินประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทเพื่อใช้ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรองรับการลงทุนระยะยาวที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันหลังโควิด-19

โดยการกู้เงินแบ่งเป็นในระยะสั้นเป็นการกู้เงินในวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการระบาดของโควิดในระลอกที่ 3 รัฐบาลก็ต้องเตรียมการที่จะเยียวยาซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการที่จะเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ที่ไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดแต่ได้รับผลกระทบด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งคนกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 30 ล้านคน

161828174614

“การช่วยเหลือ อย่างน้อยควรจะร้อยละ 50-60 ของรายได้ขั้นต่ำ หรือ ถ้าคิดค่าแรง 300 บาทต่อวันก็เท่ากับ 7,800 บาทต่อเดือนจะตกที่ 3,900-4,680 บาทต่อเดือน จนกว่าการระบาดจะสิ้นสุดในเวฟ นี้ โดยถ้าตีว่าควรช่วยเหลือประมาณ 30 ล้านคน ก็จะอยู่ที่ประมาณ 1-1.2 แสนล้านบาทต่อเดือน การเยียวยา 3 – 4 เดือนจะใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท”

สำหรับเงินกู้อีกส่วนคือหลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลง ก็คงต้องเริ่มเพิ่มการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปซึ่งควรจะมีขนาดของเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท

ส่วนการกู้เงินเพิ่มเติมจะกระทบกับนระดับหนี้สาธารณะ และกรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่เนื่องจากมีการกำหนดกรอบไว้ที่ 60% ของจีดีพี เขามองว่าที่จริงแล้วเกณฑ์ตรงนี้ไม่น่ากังวลมากนักเเพราะมาตรฐานของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ เรามีระดับหนี้สาธารณะต่ำมากสามารถก่อหนี้ในส่วนที่จำเป็นและรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

“เกณใช้นิยามหนี้สาธารณะนั้นกว้างกว่า แต่หนี้จริงๆ เราน้อยกว่า ถ้าใช้นิยามสากลก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆและเกณฑ์นี้สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมเพราะการกู้เงินในส่วนที่จะเอาไปลงทุนเพิ่มโอกาสของประเทศไทยในอนาคตการใช้หนี้คืนก็ทำได้ไม่ยาก แต่การตัดสินใจของภาครัฐที่ไม่กล้ากู้เงินเพิ่มน่าจะกลัวกระแสลบทางการเมืองจึงอยากให้ตัดสินใจเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของการมองถึงความจำเป็นของประเทศในอนาคตมากกว่ามองในเงื่อนไขทางการเมือง และกล้าตัดสินใจเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลและบริหารสถานการณ์ทั้งการแก้ปัญหาและวางแผนลงทุนในอนาคต” 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง