กับดักหนี้ครัวเรือน 13.7 ล้านล้าน 'สศช.'ชี้โควิดฉุดความสามารถจ่ายหนี้

กับดักหนี้ครัวเรือน 13.7 ล้านล้าน 'สศช.'ชี้โควิดฉุดความสามารถจ่ายหนี้

สศช.เผยข้อมูลหนี้ครัวเรือน 13.77 ล้านล้าน แตะ 86.6%ของจีดีพี เผย “เจน-วาย” ซื้อสินค้าโทรศัพท์ เสื้อผ้า นาฬิกา 69% ของเงินเดือน ทักษะการเงินต่ำ หวั่นความสามารถในการชำระหนี้ด้อยลง ตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยล่าสุด ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 มีวงเงิน 13.77 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงและมีผลต่อการชำระหนี้มากขึ้น 

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า แม้หนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ แต่หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค (รวมทั้งหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต) มีสัดส่วนสูง ซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นและมีดอกเบี้ยสูง

ทั้งนี้ ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ และอาจส่งผลต่อความสามารถการออมของครัวเรือน เพราะ สศช.พบว่าความสามารถในการออมของครัวเรือนไทยยังต่ำเฉลี่ยเพียง 133,256 บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่สูงกระทบกับความสามารถการออม

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการมีรายได้น้อยและพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งแรงงาน 1 ใน 3 ของประเทศเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีรายได้น้อย และมีผลิตภาพต่ำขณะเดียวกันพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเฉพาะของคนรุ่นใหม่ขาดความระมัดระวัง

และกลุ่ม Gen Y มีการใช้จ่ายสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เช่น จำพวกโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ ถึง 69% ของเงินเดือน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 100,000 บาทต่อปี หรือเป็นมูลค่ารวมทั้งประเทศ 1.37 ล้านล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับ 13% ของจีดีพี 

โดยการซื้อสินค้าเหล่านี้ 70% เป็นการใช้เงินจากการกู้ธนาคารบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด รวมถึงเหตุผลหลักของการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ 42% เป็นการซื้อตามเทรนด์ และ 37% คิดว่าสินค้าที่ซื้อเป็นของจำเป็น เช่น โทรศัพท์ และเสื้อผ้า สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ที่ใช้เงินก่อนออม ใช้จ่ายเกินตัวและไม่จำเป็น และขาดการวางแผน

สำหรับทักษะความรู้ทางการเงินของคนไทย สศช.พบว่ายังอยู่ในระดับต่ำ จากรายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ทักษะด้านความรู้ทางการเงินที่ยังเป็นจุดอ่อน หรือมีคะแนนไม่ถึง 50% ในการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้นมีคะแนน 33.4% 

ส่วนความรู้เกี่ยวกับมูลค่าของเงินตามกาเวลามีคะแนน 37.2% และการลงทุนมีคะแนน 42.7% นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมทางการเงินของคนไทยยังมี ปัญหา เช่น การจัดสรรเงินก่อนใช้มีคะแนนเพียง 22.7 คะแนน การเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อมีคะแนน 27.2 และ 47.5% ไม่เคยประสบปัญหาเงินไม่พอใช้

“กล่าวได้ว่าคนไทยไม่จัดสรรเงินก่อนใช้ ไม่ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเปรียบเทียบก่อนซื้อ"

รวมทั้งจากการสำรวจติดตามระดับความรู้และการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในปี 2561 ของ ธปท.พบว่า ทักษะทางการเงินของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำหรือมีคะแนน เฉลี่ยทักษะทางการเงินต่ำกว่าค่ำเฉลี่ยของ OECD โดยพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่

1.ทักษะทัศนคติทางการเงิน

2.ทักษะพฤติกรรมทางการเงิน

3.ทักษะความรู้ทางการเงิน

โดยทักษะความรู้ทางการเงินเป็นด้านที่คนไทยอ่อนที่สุด หรือมีคะแนนเฉลี่ย 56.7% เท่านั้น

สศช.ห่วงความสามารถจ่ายหนี้

รายงานข่าวจาก สศช.ระุว่า สศช.ได้สรุปรายงานภาวะสังคมปี 2563 ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ.2564 โดยระบุถึงแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามมาตรการการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอาจด้อยลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ที่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป และเพิ่มความเสี่ยงทางการเงินต่อครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีปัญหาสภาพคล่องและยังต้อง พึ่งพาความช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ

สศช.แนะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นความท้าทายสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญกาสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยการดำเนินการระยะถัดไปอาจต้องพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างไปแล้วเดิม ควบคู่การปรับโครงสร้างหนี้รายใหม่ เพราะผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่จะซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้อีกรอบ 

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างแล้วอาจไม่สามารรับภาระการชำระหนี้ในอัตราเดิมได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวต้องแยกลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ออกจากลูกหนี้กลุ่มอื่น เพื่อไม่ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหามารับความช่วยเหลือเพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระเงินกู้น้อยลง ซึ่งมีความเสี่ยงในการผิดชำระสูงขึ้น 

นอกจากนี้อาจพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเป็นพิเศษ เพราะมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงกว่ากลุ่มอื่นตามผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของกลุ่ม ครัวเรือนรำยได้ที่เป็นหนี้อยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับครัวเรือนกลุ่มอื่น ซึ่งการลดลงของรายได้อาจกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ เพราะเดิมมีภาระหนี้สินและขัดสนด้านการเงินอยู่แล้ว