กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (12 เม.ย.64)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (12 เม.ย.64)

12-16 เมษายน: ยังมีแรงกดดันจาก COVID-19 ภายในประเทศ

ตลาดจะอยู่ในช่วงแคบเพราะสถานการณ์ COVID-19 ในไทยหักล้างกระแสบวกจากปัจจัยมหภาคโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 เมษายน) ดัชนี SET ปรับตัวลดลงแบบ sideways down ซึ่งแย่กว่าที่เราคาดเอาไว้ เพราะแม้ว่าภาวะตลาดจะได้อานิสงส์จากความคาดหวังด้านบวกต่อปัจจัยมหภาคโลกจาก i) IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลก ii) ความคาดหวังต่อการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ และ iii) ข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่แสดงสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ภาวะตลาดหุ้นไทยก็ถูกกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากการที่ยอดผู้ติเชื้อ COVID-19 ในประเทศกลับมาพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในย่าน CBD และแหล่งเที่ยวกลางคืนของกรุงเทพ ในขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจไม่ใช้มาตรการ lockdown หรือสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารก็มีส่วนช่วยจำกัด downside ของตลาดหุ้นไทย

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (12-16 เมษายน) ตลาดหุ้นไทยจะเปิดทำการซื้อขายแค่สองวันเท่านั้น (วันนี้ และวันศุกร์) โดยเราคาดว่าตลาดน่าจะพักตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศ ไทยเลวร้ายลงไปอีกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และตามการวิเคราะห์และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์น่าจะยังแย่ลงไปอีกในช่วงสองสามสัปดาห์ข้างหน้า เราคิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เพิ่มขึ้น, การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เข้มงวดขึ้น, และผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศในระยะสั้น จะไปหักล้างปัจจัยบวกจากความคาดหวังต่อข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคสหรัฐ และผลประกอบการ 1Q64 ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐ ดังที่เราได้ระบุเอาไว้ในบทวิเคราะห์รายวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราประเมินว่า downside ของดัชนี SET ในกรณีฐาน (base case) ของเราอยู่ที่ 1,550 จุด โดยใช้สมมติฐานว่าไม่มีการ lockdown หรือคุมเข้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด (worst case) ซึ่งมีการใช้มาตรการ lockdowns อย่างเข้มข้น เราใช้ earnings yield gap เฉลี่ยสิบปีย้อนหลังที่ 4.1% (อิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีในปัจจุบันที่ 2.0%และ ประมาณการ EPS กลางปี 2565 ของเราที่ 92) และประเมิน downside ของดัชนี SET ที่ 1,510 จุด

ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ และข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐ/จีน

(-) ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของไทยกำลังเร่งตัวขึ้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน ศบค. รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็น 967 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ติดมาจากสถานบันเทิงในย่าน CBD ของกรุงเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ส่วนใหญ่มองว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนกว่าที่สถานการณ์จะเริ่มนิ่ง และใน
กรณีฐาน (base case) น่าจะใช้เวลาประมาณสองเดือน ดังนั้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันจึงน่าจะยังเพิ่ม ขึ้นอีกในระยะต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรายังคงมองว่า downside ของตลาดหุ้นอาจจะจำกัดจากการที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่มีการใช้มาตรการ lockdown และประกาศว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมา
ฉีดให้กับประชาชนได้

(+) ข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐ/จีน ในสัปดาห์นี้ จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับตลาดหุ้น ได้แก่ i) CPI เดือนมีนาคมในวันที่ 13 เมษายน และ ii) ยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมในวันที่ 15 เมษายน เราคาดว่าตัวเลขทั้งสองจะเพิ่มขึ้น โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และการที่เช็คเยียวยาถูกส่งถึงมือประชาชนชาวอเมริกันแล้ว ส่วนทางด้านของจีนรัฐบาลก็มีกำหนดจะเผยแพร่ข้อมูล GDP 1Q64 ในวันที่ 16 เมษายน โดย Consensus คาดว่าเศรษฐกิจจีนใน 1Q64 จะโตถึง 18.8% YoY จากฐานที่ต่ำใน 1Q63 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนถูกกระทบอย่างหนักจาก COVID-19

หุ้นกลุ่ม global cyclical และหุ้นที่เกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านจะยังคง outperform ต่อไปอีก

สำหรับในระยะสั้น เราคิดว่า หุ้นกลุ่ม conventional domestic น่าจะยังคงถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความเสี่ยงด้าน downside ต่อภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าหุ้นกลุ่ม cyclical และกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในตลาดโลก อย่างเช่น IVL*, PTTGC* และ EPG* ดูน่าสนใจ นอกจากนี้ เรายังมองว่าหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้านอย่างเช่น COM7* และ SYNEX ก็น่าจะได้อานิสงส์จากการที่ตลาดหันมาให้ความสนใจมากขึ้น