‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.49บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.49บาทต่อดอลลาร์

ตลาดลดการถือครองเงินบาท ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19ในไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง และตลาดแกว่งตัวกรอบกว้างก่อนหยุดยาวช่วงสงกรานต์ พร้อมจับตายีลด์ 10 ปีอาจกลับมาเร่งตัวและยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ  31.49 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง จากระดับปิดตลาดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.40 - 31.55 บาทต่อดอลลาร์ และสัปดาห์นี้ที่ระดับ 31.25 - 31.65 บาทต่อดอลลาร์

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้นหนุนโดยการขยายตัวของภาคการบริการทั่วโลกที่ออกมาดีกว่าคาด สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดย เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น ตามยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่พร้อมปรับตัวขึ้น หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาดมาก นอกจากนี้ ตลาดอาจลดการถือครองเงินบาท ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19ในไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบที่กว้างระหว่างวัน จากการที่ธุรกรรมในตลาดจะเบาบางลง ในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาทิศทางบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ โดยยีลด์ 10 ปี อาจกลับมาเร่งตัวขึ้นได้ ตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งและการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19

โดยในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้

ในฝั่งสหรัฐฯแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง หนุนโดยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ โดย ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม จะพุ่งขึ้นราว 5.5% จากเดือนก่อน ขณะเดียวกันดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 2.5% จากปีก่อนหน้า ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นอย่างมากจากระดับฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน

อย่างไรก็ดี ควรระวังแรงขายบอนด์ระยะยาวอีกครั้ง หากอัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนได้ จากการที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะส่งผลให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of M. Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 89 จุด จาก 84.9 จุด

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรปผู้เล่นในตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของยุโรปมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนเมษายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79 จุด จาก 76.6 จุด ในเดือนก่อน (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวก)

และในฝั่งเอเชียแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์จะทำให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์(RBNZ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ไว้ที่ 0.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ที่จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Repo Rate) ที่ระดับ 0.50% เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ส่วนในฝั่งจีน เศรษฐกิจโดยรวมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ จะโตกว่า 18% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะเพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีก่อน ส่วนยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) จะโตได้ราว 27% และยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะขยายตัวขึ้นกว่า 28% หนุนโดยการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สอดคล้องกับ การปรับตัวขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในเดือนมีนาคม