'พรรคกล้า' ค้านต่อสัมปทาน 'บีทีเอส' สายสีเขียว หวั่นค่าโดยสารแพงเกินจริง

'พรรคกล้า' ค้านต่อสัมปทาน 'บีทีเอส' สายสีเขียว หวั่นค่าโดยสารแพงเกินจริง

"พรรคกล้า" ค้านต่อสัมปทาน "บีทีเอส" สายสีเขียว ชี้เอื้อผูกขาด 30 ปี หวั่นค่าโดยสารแพงเกินจริง หนุนตั้ง "กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน" แก้หนี้-ลดค่าโดยสาร

วันที่ 10 เม.. นางสาวเบญจรงค์ ธารณา กรรมการบริหารพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่คลิปและจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสาร ขอต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี แลกกับการรับภาระหนี้สินกว่าแสนล้านบาทซึ่งขณะนี้ค้างชำระแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ว่า แสดงจุดยืนคัดค้านการต่อสัมปทาน เพราะเท่ากับเป็นการให้สิทธิ์บีทีเอสผูกขาดไปอีกเป็นเวลาถึง 30 ปี ในราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ทักท้วงแล้วว่า ยังเป็นค่าโดยสารที่สูงเกินไป

นางสาวเบญจรงค์ ยังชี้ให้เห็นว่า หากต่อสัมปทานกับบีทีเอส สภาพคงคล้ายๆ กับทางด่วนโทลเวย์ ที่ราคาสูงกว่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดสัมปทาน แล้วกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบบใยแมงมุม ใช้ระบบตั๋วร่วมค่าโดยสารถูกลง ก็คงต้องรอไปอีก 30 ปี ซึ่งตนเองที่เป็นคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็คงอายุเกือบ 60 ปีไปแล้ว ดังนั้นหากต่อสัมปทาน ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน

นางสาวเบญจรงค์ กล่าวว่า ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น ไม่ควรอ้างเรื่องภาระงบประมาณ แล้วนำมาต่อรองกับการตัดสินใจว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ แต่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งทางแก้เรื่องนี้ พรรคกล้าสนับสนุนให้มีการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเคยให้ความเห็นว่า รัฐจะสามารถมีรายได้จากเงินนำส่งระหว่างปี 2573-2602 รวม 3.8 แสนล้านบาท และยังสามารถกำหนดค่าโดยสารได้ที่ 50 บาทตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการต่อสัมปทานกับบีทีเอส และยังมีรายได้มาใช้หนี้ได้อีกด้วย แต่ถ้าต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี ก็เหมือนต่อความล้าหลังให้กรุงเทพ ประชาชนเสียทั้งโอกาส เสียประโยชน์ที่จะได้ใช้ระบบขนส่งมลชนที่มีคุณภาพจริงๆ