สปสช.ย้ำกลุ่มเสี่ยงโควิด ตรวจได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน

สปสช.ย้ำกลุ่มเสี่ยงโควิด ตรวจได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน

สปสช.ย้ำกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ไปรับการตรวจคัดกรองได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศงดให้บริการตรวจนั้น จากการหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะกลับมาให้บริการตั้งแต่เช้าวันที่ 9 เม.ย.

"นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ รพ.เอกชนงดตรวจโควิด หลายแห่ง ในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย.2564 ว่า เท่าที่ตรวจสอบกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้รับคำตอบว่าเรื่องอัตราค่าใช้จ่ายที่ สปสช.จ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ที่มีปัญหาคือเรื่อง 1.น้ำยา เนื่องจากมีผู้ไปรับการตรวจค่อนข้างมาก 2.ถ้าตรวจพบว่ามีการติดโควิด-19 จะมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ ทำให้ไม่กล้าตรวจ เพราะตรวจแล้วต้องหาเตียงด้วย

อย่างไรก็ตาม สปสช.ยังยืนยันว่าประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ยังคงไปรับบริการตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนฟรี และจากการหารือกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็ยืนยันว่าได้เริ่มกลับมาให้บริการตรวจคัดกรองตั้งแต่เช้าวันที่ 9 เม.ย. 2564 แล้ว เรื่องน้ำยาตรวจไม่เป็นประเด็นปัญหาแล้ว ส่วนเรื่องเตียง ในช่วงนี้ก็จะมีการเตรียมการหาโรงพยาบาลสนามในหลายๆ รูปแบบเข้ามารองรับ

"นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยืนยันว่าเริ่มกลับมาตรวจแล้วตั้งแต่เช้านี้เป็นต้นไป เข้าใจว่าเรื่องน้ำยาไม่เป็นประเด็นแล้ว ส่วนเรื่องเตียง ทางรัฐก็ทำงานกับเอกชนเพื่อเตรียมโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม อาจจะแปลงสถานที่ราชการหรือโรงแรมบางแห่ง เพราะหลายคนที่ติดเชื้ออาการไม่หนัก สามารถใช้โรงพยาบาลสนามได้" นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นบทบาทของ สปสช.นั้น สปสช.จ่ายให้ทั้งรัฐและเอกชนเพราะเชื่อว่าใครมีทรัพยากร มีเตียง ก็เอามาแชร์กัน ยิ่งตอนนี้คือภาวะความเป็นความตายของประเทศ ไม่แบ่งรัฐและเอกชน ใครมีแรงต้องช่วยกันให้ประเทศรอด

"ที่โรงพยาบาลเอกชนประกาศงดตรวจ ทราบว่าโรงพยาบาลมีเตียงไม่พอเลยไม่กล้าทำ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยดูแล แต่โดยหลักการแล้วถ้าตรวจเจอ โรงพยาบาลก็ต้องรับไว้ดูแล เพราะหากปล่อยกลับอาจเสี่ยงไปแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นๆต่อ โรงพยาบาลอาจรับเป็นผู้ป่วยในหรือจัดรถไปส่งที่ Hospitel ก็ได้หากติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เราจ่ายตามกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นรายเคส ตรวจเสร็จเราจ่ายให้ หรือถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เราก็เปิดช่องให้ก็ไปหารือแพทย์ ถ้าแพทย์เห็นว่าเสี่ยงเราก็จ่ายให้เช่นกัน" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ ย้ำว่า ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องค่าตรวจหรือค่ารักษา เพราะ สปสช.ให้ไม่ว่าจะไปตรวจกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชน ดังนั้นอยากให้ตรวจเยอะๆ ถ้ามีความเสี่ยงตามที่กำหนดสามารถไปตรวจได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย ยิ่งตอนนี้ยิ่งต้องร่วมมือกัน ถ้าตรวจมาก ก็ยิ่งควบคุมการระบาดได้เร็ว

“ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่าง แต่ถ้าไปในพื้นที่เสี่ยงและสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ยังไงก็ต้องได้ตรวจ สามารถไปรับบริการได้ทั้งรัฐและเอกชน หรือโทรไปสอบถามเพื่อความมั่นใจก่อนก็ได้ ถ้าตรวจพบว่ามีการติดเชื้อก็สามารถรับการรักษาตามที่โรงพยาบาลจะจัดให้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิด!ต้นตอ รพ.เอกชน ไม่รับตรวจโควิด

อนึ่ง ตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel โดยค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง ค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง, ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย, ค่าห้องดูแลการรักษา จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน, ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน

สำหรับปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 จนถึง มี.ค. 2564 สปสช.จ่ายเงินแก่โรงพยาบาลทั้งในส่วนของการตรวจคัดกรองและการรักษาไปแล้วกว่า 1,963 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง 1,861 ล้านบาท และค่ารักษา 101 ล้านบาท หรือหากแยกรายเดือน จะประกอบด้วย เดือน ต.ค. 2563 จำนวน 166 ล้านบาท พ.ย. 2563 จำนวน 115 ล้านบาท ธ.ค. 2563 จำนวน 165 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ที่เริ่มมีการระบาดรอบใหม่ จำนวนการจ่ายเพิ่ม โดยเดือน ม.ค. 552 ล้านบาท ก.พ. 496 ล้านบาท และเดือน มี.ค. 466 ล้านบาท