แห่ตรวจ‘โควิด’ทะลักหนุนหุ้นโรงพยาบาล

แห่ตรวจ‘โควิด’ทะลักหนุนหุ้นโรงพยาบาล

สร้างความตื่นตระหนกกันไปทั้งประเทศ หลังโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ จากกลุ่มก้อนสถานบันเทิงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ยิ่งสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีการเดินทางกันเยอะ ยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลสถานการณ์จะยิ่งทรุดหนัก

โดยการระบาดรอบนี้ดูแตกต่างออกไปจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากอังกฤษ ซึ่งติดต่อได้ง่ายและแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ธรรมดาถึง 1.7 เท่า ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากและยังยากที่จะควบคุม

ต่างจากการระบาดเมื่อปลายปีก่อน ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกัน ทำให้การควบคุมโรคทำได้ง่ายกว่ารอบนี้

จะเห็นว่าการระบาดรอบนี้จุดศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ และพบผู้ติดเชื้อในแทบทุกกลุ่มอาชีพ หลังที่ผ่านมาเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด อาจทำให้เกิดความหละหลวม จนนำมาสู่การระบาดรอบใหม่

ถือว่าตอนนี้ทุกคนล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์แห่ไปตรวจหาเชื้อโควิดจนแน่นทุกโรงพยาบาล หลายแห่งถึงขั้นต้องประกาศงดให้บริการตรวจหาเชื้อชั่วคราว เพราะว่าน้ำยาที่ใช้ตรวจไม่พอ ไม่มีเตียงรองรับคนไข้ที่ติดเชื้อได้แล้ว ขณะที่ผลการตรวจเชื้ออาจจะต้องรอนานขึ้นเป็น 2-3 วัน เพราะมีผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก

โดยบริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA ระบุว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนมาตรวจเชื้อโควิดมากถึงวันละ 200-300 คน เทียบกับช่วงก่อนหน้านี้อยู่ที่วันละประมาณ 20 คน ที่สำคัญพบผู้ติดเชื้อถึง 10% ของจำนวนผู้ที่เข้าตรวจ จากเดิมพบเพียงแค่ประมาณๆ 1% เท่านั้น

ด้านบริษัท พริ้นซ์เพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ระบุ ตั้งแต่เกิดการระบาดรอบใหม่มีผู้เข้ามารับบริการตรวจหาเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มียอดผู้ใช้บริการแบบ Drive Thru มากถึงวันละ 400-500 คน

โดยโรงพยาบาลต้องระดมเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเครือข่ายในต่างจังหวัดเข้ามาประจำการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุด (9 เม.ย.) ได้แจ้งปรับเวลาในการตรวจหาเชื้อแบบ Drive Thru เป็นตั้งแต่ 8.00-20.00 น. และปรับเวลาแจ้งผลเป็นภายใน 48 ชั่วโมง

แน่นอนว่าการที่ประชาชนแห่ไปตรวจหาเชื้อโควิดย่อมเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล จากการรับรู้รายได้ในการตรวจหาเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น  ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลประเมินแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการตรวจฟรี แต่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายเงินอุดหนุนให้กับโรงพยาบาลเอกชนในภายหลัง 

นอกจากนี้ หากในอนาคตโรงพยาบาลสามารถจัดหาและนำเข้าวัคซีนได้จะถือเป็นอีกหนึ่งอัพไซด์สำคัญให้กับราคาหุ้น เชื่อว่าขณะนี้หลายคนพร้อมที่จะจ่ายเงินฉีดวัคซีนเอง เพราะวัคซีนรัฐต้องรอการจัดสรรตามลำดับกลุ่มเสี่ยง ยิ่งมาเกิดการระบาดรอบใหม่ ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนก รวมทั้ง ยังมีข้อกังวลถึงคุณภาพของวัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน

โดยบล.กรุงศรี ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 ราว 1.5 ล้านครั้งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากระดับ 6 แสนครั้ง ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 โดยคาดว่าบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีส่วนแบ่งในการตรวจคัดกรองมากที่สุด 1.2 แสนครั้ง ในไตรมาส 1 ปี 2564 หรือ คิดเป็น 46% ของจำนวนการตรวจทั้งหมดเมื่อปี 2563

บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุว่า BCH จะได้รับประโยชน์จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังเกิดการระบาดรอบใหม่ในกลุ่มสถานบันเทิง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 ทั้งกลุ่มมีการตรวจหาเชื้อไปทั้งหมดราว 1.2 แสนเคส ซึ่ง สปสช. จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเคสละ 2,300 บาท เท่ากับว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างน้อย 276 ล้านบาท

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS จะได้รับประโยชน์จากการตรวจเชื้อโควิด-19 มากที่สุด เพราะมีความพร้อมมากสุด โดยสามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการถึงวันละ 2,200 คน และยังมีห้องแล็บตรวจเชื้อเป็นของตัวเอง