ปตท.ไม่ประมาท ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์เมียนมา ยันยังไม่กระทบธุรกิจ

ปตท.ไม่ประมาท ตั้งทีมเกาะติดสถานการณ์เมียนมา ยันยังไม่กระทบธุรกิจ

ซีอีโอ ปตท.แจงผู้ถือหุ้นฯ ตั้งทีมติดตามสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมรับมือเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมเร่งหาพันธมิตร ลุยลงทุน EV Value Chain ด้าน ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไฟเขียว จ่ายปันผล 6 เดือนหลังปี 63 หุ้นละ 0.82 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 30 เม.ย.นี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2564 ของบริษัท การประชุม Virtual Conference วันนี้(9 เม.ย.) โดยระบุว่า สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ปัจจุบัน ยังไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของกลุ่มปตท.มากนัก โดยกลุ่ม ปตท.ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา 2 ด้านหลัก คือธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ของ ปตท.สผ. ซึ่งยังคงจัดส่งก๊าซได้ตามปกติ แต่เพื่อความไม่ประมาท ปตท.ได้จัดตั้งเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมแผนสำรองไว้รับมือ เช่น การจัดเตรียมพนักงานคนไทย และผู้รับเหมาไว้เข้าปฏิบัติงานแทนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น รวมถึงได้เตรียมแผนรับมือทางการเงินในกรณีที่ไม่สามารถชำระเงินเป็นสกุลดอลลาร์ได้

ส่วนธุรกิจน้ำมันของ โออาร์ ปัจจุบัน ได้เปิดสาขาร้านกาแฟอเมซอน ประมาณ 5-6 สาขา และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันและคลังก๊าซLPG ซึ่งคืบหน้าไปแล้วประมาณ 60% แต่ต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(EV) นั้น ปัจจุบัน ปตท.ได้จัดตั้งทีม EV Value Chain เพื่อเข้าไปดูการลงทุน EV แบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยได้ผลิตแบตเตอรี่ก้อนแรกออกมาแล้ว และหากเป็นที่ตอบรับดี จะขยายผลผลิตอย่างแพร่หลายต่อไป

รวมถึงได้จัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform และโออาร์ มีแผนจะก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เพิ่มอีก 100 แห่ง กระจายทั่วประเทศบริเวณหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน Quick Charge

“ปตท.กำลังเดินหน้าหาผู้ร่วมทุนที่เหมาะสมทั้ง Value Chain ของ EV Car เรียกได้ว่า ทั้งกลุ่ม ปตท. กำลังเกาะติดเรื่องของ EV”

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของEV (EV transition) ซึ่ง ปตท.ประเมินว่า จะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ก็เป็นโอกาสของปตท.ที่จะเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงสะอาด ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และพลังงานทดแทน โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า แตะ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 และปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าดั้งเดิม หรือ ฟอสซิล อยู่ที่ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

161796015896

ทั้งนี้ ในปีนี้ ปตท.ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ จากเดิม “thai premier multinational energy company” หรือ บริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ เป็น “powering life with future energy and beyond” หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หลังจากวิสัยทัศน์เดิมใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และปัจจุบันได้ขับเคลื่อนองค์กรจนบรรลุเป้าหมายต่างๆหมดแล้ว ทั้งการเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และทำธุรกิจที่ติดอันดับโลก โดยติดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกจากฟอร์จูน 500 และเป็น energy company

นอกจากนี้ ปตท.ได้จัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ได้แก่ 1. New Energy 2. Life Science 3. Mobility & Lifestyle 4.High Value Business 5. Logistics & Infrastructure 6. AI & Robotics Digitalization ดังนี้

โดยธุรกิจ New Energy ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform

ธุรกิจ Life Science โดยจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งในระยะต่อไปนี้ ก็อาจจะเห็นการปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)ออกมาเรื่อยๆ การร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565

ธุรกิจ Mobility & Lifestyle จะมี บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นหัวหอกหลัก เข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับ LINE MAN จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว และจะขยายสาขาต่อไป และเมื่อเร็วๆนี้ OR ก็มีพันธมิตรใหม่ คือ โอ้กะจู๋ เป็นร้านอาหารที่รับกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ก็เป็นการผันตัวไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน(non oil) มากขึ้น

ธุรกิจ High Value Business จะเป็นการผันตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ไปเน้นเรื่องของการผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นสเปเชียลตี้ แม้ว่าโควิด-19 ก็กระทบต่อราคาปิโตรเคมี แต่มองว่าในระยะยาวยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต โดยจะเน้นต่อยอดสู่การผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ได้เริ่มจับมือพันธมิตรเข้าร่วมประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก ระบบร่าง ที่มีโอกาสเห็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาอีกต่อเนื่อง และปตท.ก็สนใจที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาในโครงการต่างๆ

ธุรกิจ AI & Robotics Digitalization ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ก็มีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรน เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ทางธุรกิจ รวมถึงจับมือพันธมิตร เข้าไปใช้บริการโรงงานที่ต้องการใช้ดิจิตัลเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

อีกทั้ง ปตท.ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยจัดตั้งกองทุน (Corporate Venture Capital หรือ CVC) เข้าไปลงทุนผ่านกองทุนฯในต่างประเทศต่างๆ รวมถึงในประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ รวมถึงปตท.ได้ตั้งทีมงานส่งเข้าไปประกบกองทุนต่างๆ เพื่อมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนตรงในสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งปัจจุบันเข้าไปลงทุนในหลายบริษัทแล้ว และมีสตาร์ทอัพของไทยด้วย โดยสตาร์ทอัพก็อาจจะมีการร่วมทุนกัน เช่น บริษัทที่มีเทคโนโลยี Solar Tracker ที่ทำให้แผงโซลาร์หมุนเปลี่ยนทิศทางตามดวงอาทิตย์ ก็เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า

161796021646

นายอรรถพล ยังยืนยันว่า การที่ โออาร์ แยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ออกจากปตท.และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้และผลการดำเนินงานของ ปตท. เพราะปัจจุบัน ปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโออาร์ในสัดส่วน 75% และการที่โออาร์ แยกธุรกิจออกไปจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินทุนเพื่อรองรับขยายการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ฉะนั้น หากธุรกิจของโออาร์มีโอกาสเติบโตมากขึ้น ปตท.ก็จะได้รับประโยชน์สะท้อนกลับเข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 75%

161796024694

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯมีมติอนุมัติการจัดสรรเงินกำไรสุทธิ และการจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็น เงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงาน 6เดือนแรกของปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท และเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนหลังของปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.82 บาท โดยมีกำหนดจ่ายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งในปี 2563 ปตท.มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 37,766 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น อยู่ที่ 1.32 บาท โดยได้จัดสรรสำรองเพื่อกองทุนประกันวินาศภัย 22 ล้านบาท และเป็นเงินปันผลที่เสนอจ่าย อยู่ที่ 28,563 ล้านบาท หรือ อัตรา 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 76% ของกำไรสุทธิ

อย่างไรก็ตาม ปตท.มีนโยบายพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอัตรา 25%ของกำไรสุทธิ ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลในอัตราเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าปีที่ผ่าน ที่จ่ายอยู่ที่ประมาณ 47%ของกำไรสุทธิ เนื่องจากผลประกอบการลดต่ำลง

161796017732

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า สำหรับกรณีเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.รั่ว เกิดระเบิดไฟลุกไหม้ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในช่วงเดือนต.ค.2563 นั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ทางปตท.ได้จัดทำประกันภัยไว้รองรับ โดยในส่วนของประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่3 มีวงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท และยังมีประกันภัยซ่อมแซมความเสียหายส่วนต่างๆ รวมเป็นวงเงินประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบต่อ ปตท.

โดยปัจจุบัน ปตท.ได้ใช้เงินเข้าไปเยียวยาความเสียหายใน 3 ส่วนแล้ว คือ 1.บุคคลที่ไม่รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้ชดเชยแล้ว 41 ล้านบาท ครอบคลุมความเสียหาย 100% 2.บ้านอยู่อาศัย ได้ชดเชยแล้ว 61 ล้านบาท ครอบคลุมความเสียหาย 90% และ3.รถยนต์และยานพาหนะ ชดเชยแล้ว 10 ล้านบาท ครอบคลุมความเสียหาย 87% รวมเป็นเงินเยียวยาความเสียหาย 112 ล้านบาท