กฟผ-ปตท.เตรียมร่วมทุนคลังก๊าซลอยน้ำที่สุราษฎร์

กฟผ-ปตท.เตรียมร่วมทุนคลังก๊าซลอยน้ำที่สุราษฎร์

กฟผ.-ปตท. เตรียมผนึกกำลังร่วมลงทุน โครงการ เอฟเอสอาร์ยูสุราษฎร์ธานี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ลุยต่อรองขอถือหุ้นฝ่ายละ 50%หวังป้อนเชื้อเพลิงผลิตไฟภาคใต้ หวั่นนิคมจะนะเกิด ดับฝันโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือPTTถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน โดย กฟผ.และ ปตท.มีแผนจะร่วมมือกันลงทุนในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แบบลอยน้ำ(FSRU)ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี กำหนดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯของโรงไฟฟ้าขนอมและโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018Revision1)

โดยความร่วมมือดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 ทาง กฟผ.และ ปตท. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MOU)ศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)หรือLNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซLNGในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ในบทบาทความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทย โดยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับใหม่ ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

161795320040

ปัจจุบัน พบว่า ผลการศึกษาในโครงการดังกล่าว มีความเป็นไปได้ในการลงทุน และจะเกิดประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยภายใต้โครงการนี้จะต้องมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ เข้าสู่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีด้วย ก็ต้องไปดูว่าในส่วนนี้ จะเป็น กฟผ. หรือ ปตท.ลงทุน

“เท่าที่ทราบ ตอนนี้ กฟผ. กับ ปตท.อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดของแผนการร่วมทุนระหว่างกัน ซึ่งอาจจะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาร่วมลงทุน หรือ รูปแบบอื่นๆ และทั้ง 2 ฝ่ายอยากจะถือหุ้นในส่วน 50:50แต่จะยังเจรรากันไม่ตกผลึก คาดว่า หากโครงการนี้ ได้ข้อสรุปแล้วก็คงจะมานำเสนอต่อกระทรวงพลังงานต่อไป”

อย่างไรก็ตาม โครงการFSRUสุราษฎร์ธานี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ยังต้องรอผลแนวทางบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)ของประเทศไทย ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมและพิจารณาข้อมูลต่างๆ คาดว่า จะนำเสนอกระทรวงพลังงาน พิจารณาได้ในเร็วๆนี้ โดยหากภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และไม่กระทบต่อแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ก็มีโอกาสที่ โครงการFSRUสุราษฎร์ธานี จะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ตามลำดับด้วย

161795322270

สำหรับ ตามแผนPDP2018Revision1 ได้กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ปี2570 และ ปี 2572 แต่โครงการจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ยังต้องรอผลพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ด้วย 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ที่มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซLNGกำลังผลิต 1,700 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบัน โครงการนี้ ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนPDP2018Revision1 ดังนั้น ในอนาคตหากโครงการนี้ ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ก็ต้องมาพิจารณาว่า จะมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้อย่างไร แต่เท่าที่ประเมินเบื้องต้น ก็อาจจะกระทบต่อสายส่งไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีได้