ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยัน 'โควิด' ไม่กระทบ บจ.ไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยัน 'โควิด' ไม่กระทบ บจ.ไทย

เชื่อธุรกิจมีความพร้อมรับมือ แนะวิเคราะห์ผลกระทบรายอุตสาหกรรมก่อนลงทุน หวังการฉีดวัคซีนช่วยชุบเศรษฐกิจไทย พร้อมเผยแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติขายสุทธิลดลง เดือน มี.ค.เหลือ 87 ล้านบาท สะท้อนตลาดหุ้นไทยไม่ไร้เสน่ห์

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบกับประเทศไทยเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่รอบนี้แนะนำนักลงทุนวิเคราะห์ผลกระทบเป็นรายธุรกิจ เพราะแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป

ขณะที่ความรุนแรงเมื่อเทียบกับระลอก 1 และ 2 ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน เพราะยังต้องรอติดตามสถานการณ์ แต่เชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีการเตรียมการมาต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถรับมือได้เร็วขึ้น จึงแนะนำให้นักลงทุนวิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรม หรือไม่ควรดูเป็นภาพรวม

"อย่างเช่นธุรกิจท่องเที่ยวและการบริโภค หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และในบางธุรกิจ เช่น บรรจุภัณฑ์ (Packaging) กลับได้ผลประโยชน์จากโควิด-19 ส่งผลให้รายได้นิวไฮ เป็นต้น แต่ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาได้" นายภากร กล่าว

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.2564 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปรับเพิ่มขึ้น 6.0% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ สาเหตุหนึ่งมาจากความคืบหน้าการกระจายวัคซีนและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ คาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ประกอบกับมีการปรับพอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันจากอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 (หุ้นเติบโต หรือ Growth Stock) ไปยังอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจของประเทศ (หุ้นคุณค่า หรือ Value stock)

นอกจากนี้ พบข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนของการซื้อขายนักลงทุนต่างประเทศ ในเดือน มี.ค.เหลือยอดขายสุทธิ 87 ล้านบาท จากเดือน ก.พ.ที่มียอดขายสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิรวม 2.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ 4 วันทำการแรกของเดือน เม.ย. (ณ วันที่ 7 เม.ย.) มียอดซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท

"ยอดขายสุทธิลดลงทุกๆ ไตรมาส ซึ่งเราก็ติดตามอยู่ว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นบวกเมื่อไหร่ โดยไทยมีปัจจัยบวกจากสัดส่วนหุ้นคุณค่าที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสูง อีกทั้งยังมีจุดขายตรงที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งได้เข้าคำนวณดัชนีหุ้นยั่งยืนระดับโลกอยาง DJSI อีกด้วย" นายศรพล กล่าว

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

  • ณ สิ้นเดือน มี.ค. SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 6.0% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค โดย MSCI ASEAN Index ปรับลดลง 6%
  • ในเดือน มี.ค. หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ ธุรกิจการเงิน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม บริการ สินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
  • เดือน มี.ค.มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 95,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในไตรมาสแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,951 ล้านบาท
  • ด้านผู้ลงทุนในประเทศยังมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 48.0% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่มีแนวโน้มลดลง ด้านผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพียง 87 ล้านบาท สำหรับในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 29,370 ล้านบาท
  • ในเดือน มี.ค. มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน mai 1 บริษัท ไตรมาสแรกปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
  • Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน มี.ค.อยู่ที่ระดับ 4 เท่า และ 39.7 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.1 เท่า และ 24.1 เท่าตามลำดับ
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน มี.ค.อยู่ที่ระดับ 42% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.30%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

  • ในเดือน มี.ค. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 621,604 สัญญา เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures และ USD Futures

161789752372