แก้ รธน. 'รื้อระบอบประยุทธ์' ดันประชาชนโค่นอำนาจทหาร

แก้ รธน. 'รื้อระบอบประยุทธ์' ดันประชาชนโค่นอำนาจทหาร

กลุ่มรีโซลูชั่น ที่ริเริ่มการ เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 1 ล้านรายชื่อ แน่นอนว่าเป้าหมายของพวกเขาคือ การรื้อระบบสืบทอดอำนาจ "เผด็จการทหาร" แต่ไส้ในของ "ร่างแก้รัฐธรรมนูญ" ยังซ่อนสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองของตัวเองด้วย

       แคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ที่ "กลุ่มรีโซลูชั่น" ร่วมกับ “คณะก้าวหน้า” และ “ไอลอว์” ตั้งโต๊ะให้ “ประชาชน” เข้าชื่อสนับสนุน “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” เริ่มวันแรกไปแล้ว เมื่อ 6 เมษายน และจะทำต่อเนื่อง 6 เดือน

       เป้าหมายของกิจกรรมนี้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า บอกว่า ต้องการรายชื่อผู้สนับสนุน“หลักล้านคน” เพื่อผันเป็นแรงกดดันให้ “สมาชิกวุฒิสภา” สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสื่อนัยทางการเมืองต่อการสะท้อนความต้องการของประชาชน ที่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

   

       จำนวนหลักล้านที่ตั้งเป้า เปรียบได้เป็น “มินิ” ประชามติ อย่างไม่เป็นทางการ ที่หวังผลให้ "ผู้มีอำนาจ” ต้องตอบสนอง

       ในวันคิกออฟกิจกรรม “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับที่แกนนำแคมเปญยกให้เป็นฉบับ "รื้อระบอบประยุทธ์ หยุดยื้อเวลาเผด็จการ” ถูกเปิดเผย และประกาศไว้บนเว็ปไซต์ของ “คณะก้าวหน้า”

       สาระโดยสรุป เสนอแก้ไข 4 หมวด คือ หมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร โดยยกเลิกบทว่าด้วย “วุฒิสภา” ทั้งหมด หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระโดยแก้ไขที่มาและอำนาจบางอย่างของ 5 องค์กรอิสระ และหมวด 16 เพื่อยกเลิกการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และเปิดช่องให้ คำสั่ง-ประกาศของคณะรัฐประหารถูกตรวจสอบโดยศาล

161782478623

       อย่างไรก็ดี ในสาระแก้ไขในหมวด 7 ที่ไม่ถูกพูดถึงบนเวที “รีโซลูชั่น” คือ การคงไว้ซึ่ง “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560

       เหตุผลหนึ่งที่ “ปิยบุตร” ไม่พูดถึงอาจเป็นเพราะระบบเลือกตั้งนี้ “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ได้ประโยชน์มากที่สุด

       เพราะหลังจากการเลือกตั้ง ปี 2562 “พรรคอนาคตใหม่” ที่นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กวาด ส.ส.เข้าสภาฯ มากถึง 81 ที่นั่ง รั้งอันดับ 3 ของพรรคที่ได้คะแนนนิยมสูงสุด รองจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

       เมื่อพิจารณารายละเอียดของเนื้อหาที่เสนอแก้ไขหมวด 7 สิ่งที่แจ่มชัดที่สุด คือการยกเลิก “วุฒิสภา” ออกจากรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้มี “สภาสูง” อยู่ต่อไปในสารบบการเมืองไทย หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นระบบ “สภาเดี่ยว”

161782478671

       ขณะที่บทบาทและหน้าที่ของ “สภาล่าง” ร่างแก้ไขได้เพิ่มอำนาจให้ “ส.ส.” มีสิทธิตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาล องค์กรอิสระ กองทัพ ผ่านกลไกของ “คณะผู้ตรวจการ” วางหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ โครงการจัดซื้อจัดจ้าง และการทำหน้าที่

       รวมถึงเพิ่มอำนาจ “ส.ส.” จำนวน 1 ใน 4 เข้าชื่อเพื่อถอดถอด “ประมุขฝ่ายตุลาการ รวมถึงผู้พิพากษา” ได้ กรณีที่พบพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ "ส่อ”ทุจริตต่อหน้าที่  “ส่อ”กระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ หน้าที่ยุติธรรม หรือ “ส่อ” ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ

       เหตุต่อเรื่องนี้ แม้ “คณะรีโซลูชั่น” จะอธิบายว่าเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ แต่ทางการเมืองมองเป็นอื่นไม่ได้ว่า ต้องการสร้างช่องทาง “เอาคืน” บรรดาฝ่ายตุลาการ ที่ก่อนหน้านี้ได้ทำนิติสงคราม ทำลายพรรคอนาคตใหม่ และแนวร่วม รวมถึงชุมนุมต้านรัฐประหาร

161782478620

       ในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวดศาลรัฐธรรมนูญปรับให้ “ส.ส.” ประกอบเป็นกรรมการผู้คัดเลือก พร้อมกำหนดบทบัญญัติ “ห้ามศาลรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”

       ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้จะฉายภาพของการรื้อระบอบ และกลไกที่ตอบสนองกับความต้องการกลุ่มเผด็จการทหารที่ครอบงำการเมืองตั้งแต่ปี 2557

       ทว่า สิ่งที่เห็นเป็นเงาซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลัง คือการคงประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพวกตนเองไว้ โดยใช้เกมดันหลัง "ประชาชน”ให้เป็นกำแพงแถวหน้า เพื่อชนกับ “อำนาจ” ที่พวกเขาต้องการโค่นล้ม.