กนง. จับตาตลาดเงินผันผวนแรง ห่วงธุรกิจส่อปิดกิจการเพิ่ม ดันว่างงานพุ่ง

กนง. จับตาตลาดเงินผันผวนแรง ห่วงธุรกิจส่อปิดกิจการเพิ่ม ดันว่างงานพุ่ง

กนง.เปิดรายงานฉบับย่อครั้งที่สอง ชี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบ จับตาตลาดเงินระยะข้างหน้าผันผวนสูง ธุรกิจจ่อปิดกิจการเพิ่ม ห่วงหนี้ธุรกิจครัวเรือน ว่างงานพุ่ง

    ภายใต้เศรษฐกิจไทย ที่ยังเปราะบาง และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จากวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่เศรษฐกิจไทย ยังต้องการ “แรงหนุน” จากทั้งภาคการคลัง และภาคการเงิน เพื่อเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปแล้ว

     ในด้านการเงิน ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ระบุในรายงานกนง.ฉบับย่อ จากการประชุมครั้งที่2 ของปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทย ยัง “เผชิญ”กับปัจจัยเสี่ยงอีกมาก ที่อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสร้างความไม่แน่นอนให้กับระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ​​

     ด้านตลาดเงิน กนง.มองว่ามีความเสี่ยงที่ จะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวปรับสูงขึ้นเร็วจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม

    ซึ่ง มีโอกาส ที่จะสร้างความ “ผันผวน”ในตลาดการเงินโลกต่อเนื่อง ขณะที่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ อาจปรับตัวอย่างรุนแรง จากการทยอยลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หากไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทยได้ ดังนั้นอาจเป็นความเสี่ยง และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้

161781723542     ไม่เพียงเท่านี้ แต่หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทย ยังมีความเสี่ยง ที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย ทั้งจาก การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่อาจล่าช้า จากข้อจำกัดในการกระจายวัคซีนโควิด รวมถึงแรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่เหลือ ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 3 ปี 2564

    หากดูในด้านฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ ก็อ่อนแอ อาจเห็นกิจการปิดตัว และมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจเห็น “การผิดนัดชำระหนี้” ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่อาจสูงขึ้นมาก ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง

    ดังนั้น  ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และมีความแตกต่างกันมากขึ้น ระหว่างภาคเศรษฐกิจภาครัฐจึงควรออกแบบมาตรการให้ตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการเพื่อช่วยลด scarring effects ในระบบเศรษฐกิจ


    รวมถึง ควรเร่ง แก้ปัญหาเรื่องฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่มีความเปราะบางมากขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

     สิ่งที่กนง.เน้นย้ำในการประชุมครั้งนี้ คือ ความจำเป็นของนโยบาย “ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว เพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำลงต่อเนื่อง

     อีกทั้งการระบาดโควิด-19 อาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม จึงมีความจำเป็นที่ต้อง “ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเพิ่มรายได้ประชาชนในระยะยาว และช่วยลดภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจให้เร็วยิ่งขึ้น!