หนังเล่าโลก ‘FORGIVENESS’ (‘MECHILA’) กาซาโกลาหล

หนังเล่าโลก ‘FORGIVENESS’ (‘MECHILA’)  กาซาโกลาหล

ชมภาพยนตร์ดังจากอิสราเอล สะท้อนภาพบรรยากาศของผู้คนในกาซา ที่หาดูไม่ง่ายนัก

อิสราเอล ประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลางแม้ไม่ได้ห่างจากประเทศไทยชนิดไกลครึ่งโลก แต่การจะเดินทางไปท่องเที่ยวก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว ครั้นจะหาชมภาพยนตร์เพื่อทำความรู้จักประเทศนี้ก็ไม่ได้มีให้ดูง่ายๆ เหมืือนกัน ดังนั้นเมื่อชมรมภาพยนตร์ริเวอร์ซิตี้แบงค็อกด้วยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นำภาพยนตร์เรื่อง ‘Forgiveness’ (‘Mechila’) มาฉายผู้เขียนจึงไม่พลาด 

‘Forgiveness’ (‘Mechila’) ภาพยนตร์เมื่อปี 2562 ผลงานกำกับของ กาย อเมียร์และ คานัน ซาฟยอน ที่ร่วมแสดงนำคู่กัน บอกเล่าเรื่องราวของชาอูลและนิสชาน เพื่อนรักที่มีปัญหาการเงินจึงตัดสินใจปล้นสำนักงานไปรษณีย์ โดยชาอูลเป็นคนลงมือ นิสชานเป็นคนดูต้นทาง แต่เพราะความประมาทเลินเล่อของเขาเป็นเหตุให้ชาอูลถูกตำรวจจับต้องโทษจำคุก ส่วนนิสชานหนีไปได้พร้อมเงินก้อนโต สามปีผ่านไปเมื่อชาอูลพ้นโทษ นิสชานกลับมาหาเพื่อนเก่า แน่นอนว่าความผิดของเขายากที่ชาอูลจะให้อภัยได้ แต่เมื่อชาอูลยังเก็บความแค้นไว้ ชีวิตของเพื่อนรักทั้งคู่ย่อมเดินหน้าต่อไปได้ยาก เพราะสิ่งที่ค้างคาในใจได้ส่งผลไปถึงคนรอบข้างทั้งภรรยาและลูกสาวของชาอูล รวมไปถึงหญิงสาวที่นิสชานหวังจะแต่งงานด้วย 

‘Forgiveness’ (‘Mechila’) เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเรื่องหนึ่งของอิสราเอล  เมื่อนำมาฉายในต่างแดนจึงช่วยให้ผู้ชมรู้จักประเทศนี้ได้มากขึ้น เริ่มต้นจากเรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นในช่วง ยม คิปปูร์ วันสำคัญทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของศาสนายูดาห์เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะขออภัยและให้อภัยซึ่งกันและกัน 

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ‘Forgiveness’ (‘Mechila’) บอกเล่าบรรยากาศที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนักในภาพยนตร์อิสราเอล เนื่องจากตัวละครใช้ชีวิตอยู่ทางตอนใต้ของอิสราเอลติดกับชายแดนกาซา ผู้ชมจึงได้สัมผัสบรรยากาศชวนระทึกจากเสียงสัญญานเตือนภัย การกราดยิง การโจมตีด้วยจรวด ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่องโดยเฉพาะเมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์ของแต่ละปมปัญหาที่ชาอูลและนิสชานต้องเผชิญ สัญญาณเตือนภัยต้องดังขึ้นทุกที และเมื่อถึงเวลานั้นทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนจะรักหรือจะเกลียดกันก็ต้องวิ่งไปยังที่หลบภัย อพาร์ทเมนท์ที่อู้ฟู่หน่อยก็ต้องมีห้องหลบภัยประจำตึก ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เก่าก็ต้องไปรวมตัวกันที่ศูนย์หลบภัยที่ใกล้ที่สุด มีหลายฉากที่ผู้คนรีบวิ่งลงบันไดไปหลบระเบิดโดยยังอยู่ในชุดนอน คอยลุ้นว่าจรวดไปลงที่ไหน พวกเขาคุ้นเคยถึงขนาดได้ยินเสียงก็บอกได้ว่า ตกลงบนพื้นที่โล่งหรือโดนเป้าหมาย

ดูถึงฉากสัญญาณเตือนภัยก็นึกขึ้นได้ว่า กลางเดือนก่อนสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อิสราเอลเปิดตัวระบบป้องกันที่เรียกว่า ไอร์ออนโดม เวอร์ชันใหม่ สามารถสกัดโดรน ขีปนาวุธและจรวดได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งไอร์ออนโดมนี่เองที่ได้รับการยกย่องว่าช่วยให้กองทัพอิสราเอลมีสมรรถนะเหนือกว่าเพื่อนบ้าน แต่เมื่ออ่านข่าวแล้วมาดูหนังผู้เขียนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อมีระบบไอร์ออนโดมคอยตรวจจับแล้วทำไมยังมีระเบิดเข้ามาถล่มได้บ่อยๆ น่าจะสกัดได้ทุกลูก! ถามเพื่อนที่ใช้ชีวิตไปๆมาๆ ระหว่างไทยกับอิสราเอลได้ความว่า ระบบเดิมถ้าขีปนาวุธเข้ามาพร้อมกันหลายๆ ลูก ระบบจะจับไม่ทัน จึงพัฒนาระบบใหม่ที่ตรวจจับได้ไวกว่าเดิม 

นอกจากบรรยากาศการโจมตีด้วยจรวดแล้ว หนังก็มีฉากผู้ก่อการร้ายโผล่จากอุโมงค์ใต้ดินขึ้นมาปฏิบัติการในอิสราเอลได้ทุกขณะด้วย ส่วนโมเมนต์น่ารักของผู้คนก็มี  อย่างฉากในร้านทำเล็บที่ภรรยาของชาอูลทำงานอยู่ เป็นที่รวมของสาวๆ ทั้งช่างทำเล็บ ลูกค้าขาประจำและขาจร ต่างระบายความในใจหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้อย่างออกรส หรือฉากงานแต่งงานของชาวเบดูอินที่มีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่บ่าวสาวด้วย ดูแล้วนึกถึงงานแต่งงานตามต่างจังหวัดของไทยไม่มีผิด 

‘Forgiveness’ (‘Mechila’) มีมุกตลกอยู่มาก แต่บางมุกก็มีความต่างทางวัฒนธรรมที่ดูแล้วอาจขำไม่สุด อย่างไรก็ตาม การได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นความตื่นตาตื่นใจ เพราะแม้ว่าเมื่อโควิด-19 บางเบาการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศรวมทั้งอิสราเอลย่อมทำได้อีกครั้ง แต่คงไม่มีใครพาไปเที่ยวกาซาหรือไปร่วมงานแต่งงานของชาวเบดูอินแน่ๆ  ดังนั้นการได้ชมวิถีชีวิตที่แตกต่างผ่านหนังจึงถือเป็นกำไรชีวิต