พัฒนาคลัสเตอร์ใน EEC: ใคร-คือ-ควรเป็นเจ้าภาพ

พัฒนาคลัสเตอร์ใน EEC:  ใคร-คือ-ควรเป็นเจ้าภาพ

ผมเห็นหลายหน่วยงานพยายามที่เข้าไปผลักดันกิจกรรมที่ภารกิจรับผิดชอบของตนเองในพื้นที่ EEC มากขึ้น

ผมเห็นหลายหน่วยงานพยายามที่เข้าไปผลักดันกิจกรรมที่ภารกิจรับผิดชอบของตนเองในพื้นที่ EEC มากขึ้น และล่าสุดเห็นกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการปั้น “มหานครผลไม้” ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ใน 5 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ตราด นครนายก จันทบุรี และสระแก้ว พร้อมกับเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปใหม่ ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมทางด้านเกษตรใหม่ ๆ

 รวมทั้งการร่วมกับภาคเอกชนในการผลักดันให้มีเขตประกอบการ นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตชุมชนอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว และยังไม่พอที่จะมอบหมายให้ AIC ของจันทบุรี สนใจที่จะพัฒนาให้เป็นซิลิคอนวัลเล่ย์ทางผลไม้ ให้เหมือนซิลิคอนวัลเล่ย์ในสหรัฐ และไม่นับอีกหลายความฝันที่กระทรวงเกษตรฯ จะผนึกกำลังกับพื้นที่ EEC ให้ 5 จังหวัดนี้เป็นประตูเศรษฐกิจสู่อินโดจีน ซึ่งผมฟังดูแล้วก็เป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ตื่นตา ตื่นใจ แต่ก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะทำได้ เพราะทั้งหมดเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ซึ่งคำว่า “บรูณาการ” ในระบบไทย ๆ ถือว่าเป็นของแสลง และสำหรับคนในพื้นที่อาจไม่ตื่นเต้นเท่าไร เพราะฟังเรื่องที่มีคนมาขายฝันอย่างนี้มาเยอะแล้ว

ผมเชื่อว่า ศูนย์ AIC นั้นจะมีประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างมากซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเคยทำมาก่อนในการตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ITC ย่อมาจาก Industrial Transformation Center ที่มีการพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารต่าง ๆแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ ITC ตั้งมานั้นกว่า 7 ปี ประสบความสำเร็จบ้าง มีคนชมก็เยอะ มีคนด่าก็แยะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความต้องการและความคาดหวังของภาคเอกชนแต่ละรายแตกต่างกัน 

“สิ่งหนึ่งที่พอเห็นในการจัดการเรื่องนี้ คือ หน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้”  ดังนั้น ผมถึงมองไม่ว่าจะเป็น ITC ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือ AIC ของกระทรวงเกษตร ต่างก็คือจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในกระบวนการพัฒนา “เกษตรอุตสาหกรรม” ที่ต้องการให้เกษตรกรปลูกพืชผลไม้ที่ตลาดต้องการ ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ เก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และมีตลาดรองรับอย่างเพียงพอทั้งในรูปผลไม้สดหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป 

นอกจากนี้ ฝ่ายตลาดก็มีการส่งข้อมูลย้อนกลับให้ต้นทางคือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องถึงความต้องการของตลาด ทุกระดับตั้งแต่ระดับที่หนึ่งถึงที่สามจะมีผู้เล่นมากมายในระบบธุรกิจที่ทุกส่วนจะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางยั่งยืนได้ ต้องยอมรับที่ผ่านมา การตลาดของผลไม้ไทยส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ค้าชาวต่างชาติ เพราะความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของตลาดในต่างประเทศและส่งออก ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดราคารับซื้อจากเกษตรกรได้ ทำให้ตลาดกลางผลไม้ที่สำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำลังทำอยู่จะเป็นการเปลี่ยนอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคงต้องเร่งมือศึกษาและจัดตั้งโดยเร็วละครับ 

ส่วนหน่วยงานของรัฐสามารถช่วยได้ในการจัดสร้างระบบคลัสเตอร์และสร้างเครือข่ายให้กับผู้เล่นทุกฝ่าย และสร้างจิ๊กซอว์ที่เป็นบริการสาธารณะ เช่น ตลาดกลางผลไม้ หรือ Eastern Fruit Corridor (EFC) และ AIC หรือ ITC รวมทั้งแพลทฟอร์ม Thai trade ในรูปแบบออนไลน์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดี สิ่งที่รัฐต้องทำ แต่ต้องประสานและบรูณาการทำงานให้สอดคล้องกันในทิศทางเดียวกันตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ

ผมไม่บังอาจไปสอนใครเรื่องการทำนโยบายแบบนี้ เพราะหลายหน่วยงานต่างก็บอกว่าตัวเองทำมาแล้ว กำลังทำ หรือจะทำกันทั้งนั้น ผมเพียงแต่อยากเล่าเรื่องที่เคยเห็น เคยเจอ มาบอกกันเท่านั้นตามความเห็นของผมว่า ความสำเร็จในการพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละรายนั้นไม่ยาก มีเรื่องราวของความสำเร็จมากมาย แต่ต้องมองในเชิงมหภาค โดยมาตรการนั้นต้องมีผลต่อคนจำนวนมาก ไม่งั้นโครงการต่าง ๆ ศูนย์ต่าง ๆ อาจช่วยเกษตรกรได้ พันสองพัน แต่อีกหลายสิบล้านคนจะทำอย่างไร

โครงการพัฒนาต่าง ๆ การตั้งศูนย์ต่าง ๆ ของหลาย ๆ หน่วยงาน ผมว่า สกพอ. เชิญมานั่งคุยทำความเข้าใจให้มีการทำงานไปในทิศทางและเป้าหมายร่วมกันในพื้นที่ EEC และในจังหวัดใกล้เคียงทั้ง 5 จังหวัดที่กล่าวมานั้น ซึ่งทางสำนักงานฯ ก็มียุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นต่างคนก็ต่างทำ และทำตามที่ตนเองเข้าใจว่า “ใช่” ซึ่งทุกหน่วยงานก็คิดว่า “รู้” ก็จะลงเอยโดยจะพยายามทำทุกอย่าง ทุกเรื่อง ซึ่งก็จะจบลง โดยได้เรื่องบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ภาพรวม ไม่ได้สักเรื่อง เหมือน ๆ ที่ผ่านมา