กรมตรวจบัญชีฯสกัดปัญหาทุจริตการตกแต่งงบการเงินในสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีฯสกัดปัญหาทุจริตการตกแต่งงบการเงินในสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ชี้แนวโน้มการทุจริตตกแต่งงบการเงินเพิ่มสูงขึ้น หวั่นสร้างความเสียหาย ต่อระบบเศรษฐกิจ เร่งปรับกลยุทธ์พัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชี พร้อมเสริมสร้างความรู้แก่บุคลากร ป้องกันปัญหาการทุจริตในสหกรณ์

นางรัตติยา สวัสดี ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 2  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  เปิดเผยว่า   ปัจจุบันปัญหาการทุจริตโดยการตกแต่งงบการเงินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการล้มละลายของบริษัทขนาดใหญ่ ในต่างประเทศหลายแห่ง ที่มีสาเหตุเกิดจากการตกแต่งบัญชีในงบการเงิน เพื่อให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นและ          สร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการ

เช่น การตกแต่งการเลื่อนการรับรู้รายได้หรือทยอยการรับรู้ ในปี 2545-2549 บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง เคยใช้วิธีการนี้โดยการเก็บกำไรที่ควรจะรับรู้ในงวดนี้ไว้ในบัญชีหนี้สินแล้วทยอยเอาออกมารับรู้ในงวดถัด ๆ ไป เพื่อทำให้ยอดกำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนให้นักวิเคราะห์ตกใจ สุดท้ายโดนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ปรับเงิน 100 ล้านดอลลาร์และต้องแก้ไขงบการเงินใหม่

นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งมูลค่าสินทรัพย์ การตกแต่งรายได้ปลอม การตกแต่งการปกปิดหนี้สิน การตกแต่งไม่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และการตกแต่งค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งการตกแต่งบัญชีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในระบบการจัดทำและการนำเสนองบการเงินของกิจการ ทำให้ผู้ใช้งบการเงิน  ทั้งเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำงบการเงินไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดทุนและ         สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

การตกแต่งงบการเงินในระบบสหกรณ์ ถือเป็นการทุจริตประเภทหนึ่งที่จะต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น เพราะทำให้งบการเงินไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสหกรณ์ และระบบสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเงินของประเทศเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากกลุ่มตรวจสอบข้อมูลและบริการสารสนเทศ   ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ วันที่ 30 ก.ย.  2563 จำนวนสหกรณ์ทุกประเภทที่จะต้องตรวจสอบมีทั้งสิ้น จำนวน 6,674 แห่ง สามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ได้                   6,212 แห่ง มีสมาชิกรวม 12.17 ล้านคน คิดเป็น 18.29% ของประชากรทั้งประเทศ (ปี 2563 ประชากร                 ทั้งประเทศจำนวน 66.55 ล้านคน) มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3.51 ล้านล้านบาท และมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น                 1.91 ล้านล้านบาท

 ซึ่งหากเกิดการทุจริตในระบบสหกรณ์ จะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ สัญญาณเตือนภัยจากการตกแต่งงบการเงินในสหกรณ์ อาจพิจารณาได้จากประเด็นต่าง ๆ คือ 1. อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 2. มีระยะเวลาการเก็บหนี้นานขึ้น 3. มีสินค้าคงคลังสูงมากผิดปกติ 4. ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

  1. ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นแต่กำไรลดลง 6. หนี้สูญเพิ่มสูงขึ้น 7. ผู้สอบบัญชีมีการรายงานตรวจพบข้อสังเกตและความผิดปกติ 8 รายงานของผู้สอบบัญชียาวผิดปกติ 9. มีการบันทึกตัดจำหน่าย                (Write-Off) บ่อยครั้ง หรือตัดจำหน่ายในรายการที่ดูซับซ้อนมากเกินไป 10. มีผลประกอบการคงที่ แม้เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นจะมีความผันผวนสูง 11. บันทึกรายได้ค้างรับ (แต่ยังไม่ได้เงินสด) มากเกินไป 12. สหกรณ์มีกำไรสุทธิออกมาดี แต่ในงบกระแสเงินสดกลับไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี การควบคุมภายใน และการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จึงต้องพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานและเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้เท่าทันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ ดังนี้

 1 มาตรการตรวจสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีสหกรณ์จะต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบรายการบัญชี เอกสารการบันทึกบัญชี และหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งวิธีการตรวจสอบอื่นที่จำเป็นของสหกรณ์ที่มีสัญญาณเตือนภัย                   การตกแต่งงบการเงิน และให้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเพิ่มมากกว่าปกติ รวมทั้งปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี             โดยคำนึงถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพ ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการควบคุมภายใน หรือพบการทุจริต                     ในสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีจะต้องเสนอข้อสังเกตให้ผู้บริหารของสหกรณ์ทราบโดยเร็ว

2. มาตรการกำกับดูแล จัดให้สหกรณ์มีระบบการควบคุมภายในโดยใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชี ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ Smart M ซึ่งสามารถตรวจสอบ และสอบทานความถูกต้องได้ในทุกขั้นตอนตลอดเวลา ประกอบด้วย

            M ที่ 1 SmartMe เป็นโปรแกรมระบบบัญชีรายบุคคล สำหรับสมาชิกสหกรณ์และบุคคลทั่วไป ใช้บันทึกข้อมูลบัญชีรับจ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เช่น การรับเงินเดือน การซื้อสิ่งของ อุปโภค บริโภค                เป็นต้น โดยระบบจะออกรายงานสรุปรายรับ - รายจ่ายประจำเดือนและประจำปี เพื่อให้ผู้ใช้งานได้นำไปวิเคราะห์วางแผนการใช้จ่ายเงินให้เพียงพอกับจำนวนเงินที่ได้รับ นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เพื่อให้ทราบว่าการประกอบอาชีพของตนนั้นมีรายได้ ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย และกำไรหรือขาดทุนจากการประกอบอาชีพจำนวนเท่าไรและสามารถนำผลการบันทึกมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการประกอบอาชีพได้

            M ที่ 2 SmartMember เป็นโปรแกรมระบบสอบถามข้อมูลสมาชิกสหกรณ์  โดยระบบจะแสดงรายการธุรกรรมทั้งหมดของสมาชิกที่ทำกับสหกรณ์ในภาพรวม เช่น รายการยอดคงเหลือ รายการเคลื่อนไหวล่าสุดและกราฟแสดง          การเปรียบเทียบยอดเงินรับฝาก ทุนเรือนหุ้น เงินกู้ยืม สัญญาเงินกู้ และภาระค้ำประกัน โดยสมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบยอดคงเหลือและรายการชำระเงินกู้ยืม เงินรับฝากและทุนเรือนหุ้นของตนเองได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้สหกรณ์เกิดความโปร่งใส

            M ที่ 3 SmartManage เป็นโปรแกรมระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารสหกรณ์ โดยระบบ       จะแสดงข้อมูลสรุปการเคลื่อนไหวประจําวัน และแสดงยอดสะสมของการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ การรับ            ฝากเงิน การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และการรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร และแสดงข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ณ วันปัจจุบัน คณะกรรมการสหกรณ์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทันการณ์และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

M ที่ 4 SmartMonitor เป็นโปรแกรมระบบเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์แบบ Real Time สำหรับผู้สอบบัญชีสหกรณ์ โดยระบบจะแสดงข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย อัตราสภาพคล่องทางการเงิน อัตราความเพียงพอของเงินทุนต่อความเสี่ยง อัตราความเพียงพอของทุนสํารอง และอัตราประสิทธิภาพการควบคุมค่าใช้จ่ายดําเนินงาน ซึ่งสามารถที่จะบ่งชี้ความเสี่ยงในแต่ละด้านของสหกรณ์ โดยจะอยู่ในกล่องที่สามารถแปลความหมายผ่านสีของกล่อง และมีรูปการ์ตูนหน้าคนที่บ่งบอกถึงความหมาย นอกจากนี้ยังสามารถที่จะคลิกดูรายละเอียดความหมายของอัตราส่วนแต่ละอัตราได้ ซึ่งผู้สอบบัญชีสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้วางแผนในการตรวจสอบบัญชีและเตือนภัยทางการเงินให้แก่สหกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) ให้เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน        เพื่อรองรับการตรวจสอบบัญชีระยะไกล (Remote Audit)

  1. มาตรการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี โดยการพัฒนาแบบประเมินคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์เพื่อให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐาน ผลงานสอบบัญชีมีคุณภาพ เชื่อถือได้ มีการควบคุมคุณภาพงาน สอบบัญชีอย่างต่อเนื่อง ก่อนการปฏิบัติงานสอบบัญชีเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียหายหรือผลกระทบต่อผู้ใช้ งบการเงิน งานสอบบัญชีสหกรณ์ทุกชิ้นงานจะต้องผ่านการสอบทานงานก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นต่องบการเงิน และจัดให้มีการพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้สอบบัญชีและผู้สอบทานงานอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม “การป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ จะต้องใช้หลาย ๆ วิธีการควบคู่กัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการสหกรณ์ รวมไปถึงสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องร่วมกันดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จึงจะสามารถป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นได้” นางรัตติยา กล่าว.