ครม.เคาะขยายเวลาการยื่นเป็น 'ผู้ประกันตน ม.39' ได้ถึง 30 มิ.ย.64

ครม.เคาะขยายเวลาการยื่นเป็น 'ผู้ประกันตน ม.39' ได้ถึง 30 มิ.ย.64

รองโฆษกฯ แถลง ครม. ไฟเขียวขยายเวลาการแสดงความจำนงเป็น "ผู้ประกันตน ม.39" ออกไปอีก โดยทำได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 พร้อมขยายเวลาการส่งเงินสบทบให้ด้วย ไม่ต้องกลัวยื่นเรื่องไม่ทัน!

วันนี้ (7 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. วันพุธที่ 7 เมษายน 2564 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยได้เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องขยายกำหนดเวลาแสดงความจำนงเป็น "ผู้ประกันตน ม.39" โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขยายเวลายื่นเป็น "ผู้ประกันตน ม.39" ได้ถึง 30 มิ.ย.64

จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นลูกจ้างหรือผู้ประกันตน มาตรา33 จำนวนหนึ่งที่อาจจะตกงานหรือพ้นจากสถานภาพการเป็น "ผู้ประกันตน มาตรา33" แต่ทั้งนี้ เมื่อพ้นสภาพดังกล่าว แล้วยังมีทางเลือกอื่น คือสามารถแสดงเจตจำนงเป็น "ผู้ประกันตน ม.39" ได้ แต่ด้วยระเบียบปฏิบัติเดิม ทำให้พวกเขายื่นแสดงความจำนงไม่ทัน

เพราะฉะนั้น ทางกระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งในการประชุม ครม. วันนี้ก็มีมติเห็นชอบ "ร่างกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องขยายกำหนดเวลาการแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตน และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ตามมาตรา39" โดยขยายออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64

2. กลุ่ม "ผู้ประกันตน ม.39" คือใครบ้าง?

รองโฆษกฯ ให้คำตอบว่ากลุ่ม "ผู้ประกันตน ม.39" ก็คือผู้ประกันตนที่เคยเป็นแรงงานในระบบมาก่อน (เป็นมาตรา 33 มาก่อน) แต่เนื่องจากว่าไม่ได้ทำงานต่อ (อาจด้วยเหตุปัจจัยผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ตกงาน) และยังสนใจที่จะได้รับการประกันตนต่อเนื่อง ก็สามารถย้ายหรือยื่นเจตจำนงมาเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ทดแทนได้ 

3. สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ 2 ข้อต้องรู้!

3.1) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562 - 31 ธ.ค. 2563 ได้รับการขยายกำหนดเวลา การแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนต่อไป ตามมาตรา 39 โดยให้แสดงความจำนงภายในวันที่ 30 มิ.ย.64 

3.2) กำหนดให้ผู้ประกันตน ได้รับการขยายกำหนดเวลาการนำส่ง "เงินสมทบ" เข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่ปกติจะต้องส่งประจำงวด ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถขยายเวลาส่งเงินได้ กล่าวคือ ให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้ภายในวันที่ 15 มิ.ย.64

ทำให้มีเวลาตัดสินใจได้ว่าจะเข้าสู่ระบบ "ผู้ประกันตน ม.39" หรือไม่? และมีเวลาหายใจหายคอในการส่งเงินสมทบด้วย

4. ประโยชน์ของร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ ทำให้ลูกจ้างสามารถรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้จำนวนประมาณ 207,000 คน ซึ่งพวกเขาก็จะอยู่ในหลักประกันสุขภาพ และมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ กับทางประกันสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป 

------------------------------

ที่มา : มติ ครม. 7 เม.ย.64 ไทยคู่ฟ้า