'คลัง' กำไร ORกระฉูด2พันล้าน-รอจังหวะขายทำกำไรหุ้นนอกตลาด

'คลัง' กำไร ORกระฉูด2พันล้าน-รอจังหวะขายทำกำไรหุ้นนอกตลาด

กระทรวงการคลังประสานที่ปรึกษาการเงินเปิดประมูลขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ต่อเนื่อง ชี้ไม่ลดราคาแม้โควิดระบาด ปลื้มกำไรหุ้น “โออาร์”แล้วกว่า 2 พันล้านบาท หรือสูงกว่าต้นทุน 80%

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 สคร.ยังคงแผนการขายหุ้นที่กระทรวงการคลังถือทั้งหมดในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างดำเนินการ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี  

คณะรัฐมนตรีเมื่อเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559 อนุมัติให้กระทรวงการคลังขายหุ้นในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)และถือต่ำกว่า 50% เปิดขายโดยวิธีการประมูลทั่วไปแบบยื่นเสนอราคา ซึ่ง

ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำหน่ายได้เพียง 2 บริษัท คือ บริษัทไทยเดินเรือทะเล และบริษัทสยามซิตี้ประกันภัยจำกัด จากหุ้นที่ถืออยู่ 24 แห่ง

“แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่สคร.ก็ยังคงแผนการขายหุ้นในกิจการที่คลังถือหุ้นอยู่ต่อไป โดยดูจังหวะและราคาที่เหมาะสมในการเสนอขาย” 

นางปานทิพย์ กล่าวว่า หลักการการขายหุ้น จะยังคงยึดหลักที่ราคาขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ได้รับมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงการคลัง ฉะนั้นช่วงเวลาในการที่จะขายออกไปจึงต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย

ส่วนหุ้นที่จะขายนั้นไม่ใช่หุ้นยุทธศาสตร์ที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องถือครอง โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ในอดีต ที่ผ่านมาสคร.มีหน้าที่เข้าไปดูแลหุ้นดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากนักเมื่อเทียบกับภาระที่จะต้องจัดสรรเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล

นางปานทิพย์ กล่าวว่า นอกจากการขายหุ้นในบริษัทนอกตลาดแล้ว ที่ผ่านมาสคร.ได้ลงทุนซื้อหุ้นในกิจการในตลาดหลักทรัพย์ด้วย อาทิ หุ้นในบริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) (OR)ซึ่งเป็นการซื้อโดยได้รับการจัดสรรหุ้นในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้รับจัดสรรมา 153 ล้านหุ้น และลงทุนไปประมาณ 3 พันล้านบาท ขณะนี้ถือว่ามีผลกำไรจากการเข้าซื้อกว่า 2 พันล้านบาท หรือประมาณ 80%  

สำหรับการถือหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 29 มี.ค. 2564 มี 12 บริษัท มูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่มีมูลค่ารวม 1.2 ล้านล้านบาท ตามราคาหุ้นที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 21%

หุ้นที่มีมูลค่าการถือครองสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จำนวน 1 หมื่นล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 70% มูลค่า 6.82 แสนล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) จำนวน 1.45 หมื่นล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 51.11% มูลค่า 5.94 แสนล้านบาท และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)(TMB) จำนวน 1.13 หมื่นล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 11.79% มูลค่า 1.37 หมื่นล้านบาท

ส่วนหุ้นที่มีการลดสัดส่วนการถือครองได้แก่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เหลือ 65 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.76% จากเดิมถืออยู่ 137 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.98% ถัดมา บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จำนวนหุ้นที่ถือเท่าเดิมที่ 153 ล้านหุ้น แต่สัดส่วนการถือครองลดลงมาอยู่ที่ 1.28% จากเดิมที่ 1.32% และ บมจ.การบินไทย (THAI) เหลือ 1 พันล้านหุ้น สัดส่วน 47.86% จากเดิมถืออยู่ 1.1 พันล้านหุ้น สัดส่วน 51.03%

เมื่อพิจารณาหุ้นที่สร้างผลกำไร ให้กระทรวงการคลังมากที่สุด คือ หุ้น OR โดยปัจจุบันมีมูลค่าการถือครอง 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 82% จากมูลค่า ณ ราคาจองที่ 2.7 พันล้านบาท สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ปรับขึ้น 81.94% มาอยู่ที่ 32.75 บาทต่อหุ้น จากราคาจองซื้อ 18 บาทต่อหุ้น