โชว์ผลงานนักศึกษา 'ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง'

โชว์ผลงานนักศึกษา 'ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง'

กสศ.จัดปัจฉิมนิเทศ โชว์ผลงานนักศึกษา "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" หลังจบ ปวส. รุ่นแรก เตรียมพร้อม "นักศึกษาทุน"ออกไปประกอบอาชีพ

โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา "กสศ." จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศ สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับ "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สำหรับนักศึกษา "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง"

ทั้งนี้ นโยบาย การสร้าง "โอกาสทางการศึกษา" และอวยพรแก่นักเรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาครั้งนี้เป็นการจัดประชุมผ่านรูปแบบ Online และ onsite จำนวน 5 พื้นที่คือ เวทีกลางกรุงเทพ  เวทีจังหวัดเชียงใหม่ เวทีจังหวัดนครราชสีมา เวทีจังหวัดชลบุรี และเวทีจังหวัดสงขลา

  • "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" โอกาสทางการศึกษาผลงานของนักศึกษา

น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานกรรมการบริหาร "กสศ." กล่าวว่าโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง"ที่สำเร็จการศึกษา 1,106 คน  และให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการส่งเสริมการมีงานทำระหว่างกัน ผ่านการทำงานร่วมกันกับครู อาจารย์ และผู้บริหารจาก"สถานศึกษาสายอาชีพ" จำนวน 32 สถาบัน ว่าที่นายจ้าง สถานประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ "กสศ."

161770332875

นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ กล่าวว่า การให้ "โอกาสทางการศึกษา"กับนักเรียน "สายอาชีพ" ที่ขาดโอกาส ซึ่งหลักๆ แล้วคือ กลุ่ม"นักเรียนยากจน" และนักเรียนด้อยโอกาส เช่น พิการ ให้มีโอกาสได้เรียนจบ มีงานทำ สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ จึงเน้นไปที่วิชากลุ่ม S Curve , New S Curve และเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ก็ไม่มองข้ามอาชีพที่เหมาะกับแต่ละท้องถิ่น เพราะทางโครงการฯ อยากเห็นนักศึกษากลับไปช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดให้ดีขึ้นมากที่สุด 

  • นักเรียน"ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" ขอโอกาสมอบเด็กด้อยโอกาส

"ความยากของโครงการนี้ คือ การได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา โดยวันแรกที่น้องๆ เข้าร่วมโครงการ หลายคนมีแววตาหม่นหมอง กังวล ไม่มั่นใจ แต่วันนี้ ทุกคนมีแววตาที่เป็นประกาย เต็มไปด้วยความหวัง โครงการนี้ทำให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้เรารู้ว่า เด็กๆ ด้อยโอกาสก็มีความคิดดีๆ มีความสามารถ เห็นได้จากผลงานนวัตกรรมที่นำมาแสดงในวันนี้ และนี่คือสิ่งที่ได้มากกว่าความสำเร็จของโครงการ เราสร้างคนที่มีศักยภาพ เท่ากับเราสร้างสังคมที่ดี" นายนพพร กล่าว

น.ส.พัชรี อ้อนทอง จากวิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก นำนักศึกษาในโครงการฯ 16 คน ที่จบในปีนี้มาร่วมงานปัจฉิมนิเทศ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในวันนี้ และอยากให้โครงการมีอย่างต่อเนื่อง วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึกเป็น "โรงเรียนขนาดเล็ก"ในชุมชน เด็กนักเรียนหลายคนต้องการทุนการศึกษา

161770334785

แต่เงื่อนไขการรับ "ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" นี้ ทำให้ต้องมองหานักเรียนที่ขาดแคลนที่สุด ในฐานะครูรู้สึกดีใจที่มีทุนในลักษณะนี้มาช่วยให้ "โอกาสทางการศึกษา"แก่เด็กที่เกือบจะไม่มีโอกาสเรียนต่อได้มองเห็นอนาคตของตน

น.ส.พัชรี กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ระหว่างเข้าร่วมในโครงการ "กสศ."นี้ ทำให้นักศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกห้องเรียน เช่น การฝึกงานในโรงแรม ทำให้นักศึกษาที่ไม่เคยเข้าโรงแรม แต่เลือกเรียนการโรงแรมรู้ว่าการทำงานในโรงแรมจริงๆ เป็นอย่างไร 

  • ผลงาน "สามก๊ก" เสนอวิถีชีวิต 3 วัฒนธรรม

"การมีโอกาสได้พบปะกันระหว่างครู นักเรียน จากหลายจังหวัด ทำให้เห็นว่า มีหลายคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้ยิ่งกว่าเรา เหมือนการได้รับพลังบวกกลับมาในทุกๆ ครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรม เรียกได้ว่าโครงการนี้ ไม่เพียงแต่นักเรียนที่ได้ประโยชน์ แต่ครูก็ได้ประโยชน์เช่นกัน การปัจฉิมนิเทศในครั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงด้วย ซึ่งหลายชิ้นงานได้ถูกนำไปต่อยอดผลิตใช้งานจริงแล้ว"น.ส.พัชรี  กล่าว

ด้าน น.ส.นุชลิน วิยาสิงห์ นักศึกษาภาควิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก เจ้าของโปรเจค "สามก๊ก"  กล่าวว่า การได้ทุนนี้เหมือนได้ชีวิตใหม่ ภูมิใจในตัวเองที่มาถึงวันนี้ อยากจะขอขอบคุณ และขอให้โครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเด็กอีกหลายคนจะได้มีโอกาส  จากเดิมมองไม่เห็นอนาคต ไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วจะทำงานอะไร หรือจะหางานได้หรือไม่ แต่มาถึงวันนี้มีความมั่นใจ

161770340958

ทั้งนี้ น.ส.นุชลิน เป็นผู้ชนะการประกวดแผนธุรกิจ ซึ่งได้นำเสนอโปรแกรมทัวร์ชุมชน และได้ต่อยอดโดยการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทำให้แผนธุรกิจที่วางไว้กลายเป็นโปรแกรมทัวร์จริงๆ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้จริง ในชื่อ "สามก๊ก" ซึ่งนำเสนอวิถีชีวิตชาวกระบี่จาก 3 วัฒนธรรม คือ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน ผ่านการ "ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์" เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตคนท้องถิ่นจริงๆ