‘ไทยเวียตเจ็ท’ รู้ว่าเสี่ยงแต่ขอลอง! หวังขึ้นเบอร์ 2 ตลาดบินในประเทศ

‘ไทยเวียตเจ็ท’ รู้ว่าเสี่ยงแต่ขอลอง!  หวังขึ้นเบอร์ 2 ตลาดบินในประเทศ

“รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง!” คำร้องเพลงฮิต “เล่นของสูง” ช่างเข้ากับสถานการณ์ธุรกิจของสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” ในขณะนี้ เพราะในช่วงที่วิกฤติโควิด-19 เล่นงานอุตสาหกรรมการบินอย่างหนักหน่วงมากว่า 1 ปี กลับสร้างโอกาสสำคัญให้ไทยเวียตเจ็ท

เมื่อทุกสายการบินต้องตกอยู่ในภาวะ “เซ็ตซีโร่” (Set Zero) กลับมาเริ่มจากศูนย์เท่ากัน!

วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท ฉายภาพให้ฟังว่า วิกฤติโควิด-19 เข้ามาเซ็ตซีโร่ ทำให้สายการบินคู่แข่งในไทยต่างลดขนาดหรือ “ดาวน์ไซส์” ธุรกิจกันเกือบหมด ทั้งหยุดบิน ลดเที่ยวบิน ยกเว้นไทยเวียตเจ็ท! ซึ่งไม่เคยหยุดบิน เพราะมองว่าเป็น “หน้าที่” และเห็น “โอกาส” ในช่วงที่คู่แข่งลดเที่ยวบิน ด้วยการเลือกที่จะเสี่ยง กล้าใส่ความถี่เที่ยวบินเข้าไป เพื่อรองรับดีมานด์ที่ยังมีอยู่

“เพราะไทยเวียตเจ็ทกล้าเสี่ยงมากกว่า และที่สำคัญเครื่องบินมันต้องอยู่ในอากาศ ถึงจะทำเงิน!

เหตุผลที่กล้าบินเยอะ เป็นเพราะธุรกิจของไทยเวียตเจ็ทยังมีขนาดเล็ก ปัจจุบันให้บริการด้วยฝูงบิน 16 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A320 ขนาด 180 ที่นั่ง จำนวน 10 ลำ และแอร์บัส A321 ขนาด 230 ที่นั่ง จำนวน 6 ลำ นับเป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะ คล่องตัวในการบริหาร ทั้งในเชิงต้นทุนและเส้นทางบินในช่วงที่รายได้จากเส้นทางบินระหว่างประเทศหดหาย

“มองอีกมุม โควิด-19 สร้างโอกาสใหม่ให้กับหลายธุรกิจ ไทยเวียตเจ็ทเองก็ได้อานิสงส์นี้เช่นกัน เพราะในภาวะปกติ ไม่มีทางเลยที่ไทยเวียตเจ็ทจะมีสัดส่วนผู้โดยสารและปริมาณที่นั่งโดยสาร (Capacity) กระโดดจากอันดับ 5 ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 เป็นรองแค่ไทยแอร์เอเชีย! ทำให้คนไทยรู้จักไทยเวียตเจ็ทมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปีที่แล้ว”

หลังไทยเวียตเจ็ทได้ปรับกลยุทธ์มาเน้นให้บริการเส้นทางบินในประเทศ เจาะลูกค้าคนไทยมากขึ้นตามสถานการณ์ สัดส่วนผู้โดยสารระหว่างชาวไทยและต่างชาติเปลี่ยนไป มีชาวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 95% ต่างจากก่อนเกิดโควิด-19 ที่มุ่งให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศมากกว่า เช่น สู่เวียดนาม และจีน ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า มีสัดส่วนชาวไทยและต่างชาติเท่ากันที่ 50%

ปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทให้บริการ 140 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเส้นทางบินในประเทศไทย 14 เส้นทาง ทั้งจากฐานการบินสุวรรณภูมิจำนวน 10 เส้นทาง ซึ่งเลือกไว้เป็นฐานที่มั่นตั้งแต่แรก เพื่อหลบการแข่งขันรุนแรงของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ที่ดอนเมือง รวมถึงเส้นทางบินข้ามภาค 4 เส้นทาง โดยเร็วๆ นี้จะเปิดเส้นทางบินข้ามภาคอีก 2 เส้นทางใหม่ คือ เชียงใหม่-ภูเก็ต และเชียงใหม่-หาดใหญ่

ทั้งยังเตรียม “ขยายฝูงบิน” เพิ่มอีก 9 ลำ ทำให้ ณ สิ้นปีนี้ไทยเวียตเจ็ทจะมีทั้งหมด 25 ลำ เพื่อรองรับการกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง จากปัจจุบันให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ 2 เส้นทาง จากสุวรรณภูมิ สู่โฮจิมินห์ และดานัง ประเทศเวียดนาม เส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

พร้อมปรับปรุงบริการให้เข้ากับ “จริตลูกค้าคนไทย” มากขึ้น ด้วยการบุก “ดิจิทัล เซอร์วิส” พัฒนาเว็บไซต์ SkyFUN.vietjetair.com โดยปีที่แล้วได้เพิ่มระบบสมาชิก สะสมแต้ม ปัจจุบันมีฐานสมาชิก 1 แสนคน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2 แสนคนสิ้นปีนี้ และจะเริ่มพัฒนาระบบ AI Chatbot เฟสแรกกลางเดือน ก.ย.2564

ควบคู่ไปกับการดำเนินกลยุทธ์สำคัญ นั่นคือ “การควบคุมต้นทุน” ซึ่งเป็น Key Factor ของการทำสายการบินโลว์คอสต์ เช่น การปรับโครงสร้างค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งทางบริษัทแม่ “เวียตเจ็ท” ช่วยเจรจา เพราะเมื่อคุมต้นทุนได้ดี ก็สามารถเสนอราคาตั๋วบินแก่ผู้โดยสารได้ดี ส่วนเรื่องพนักงาน ช่วงวิกฤติโควิด-19 ยอมรับว่าพนักงานทุกคนถูกลดเงินเดือนตามสัดส่วน แต่เราไม่เคยเอาคนออก ปัจจุบันมีพนักงานรวม 740 คน

นอกจากนี้จะมุ่ง “เพิ่มรายได้เสริม” (Non-Airline) ที่ไม่ใช่ค่าตั๋วบิน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่หลายๆ สายการบินหันมาปั้นรายได้ส่วนนี้อย่างจริงจัง ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้เสริมจาก 25% ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 30% สิ้นปีนี้ โดยไทยเวียตเจ็ทจะรุกอี-คอมเมิร์ซ เริ่มด้วยการขายสินค้าเมอร์ชานไดส์ (Merchandise) ทางออนไลน์ อาศัยฐานผู้โดยสารที่มี 3 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 6 ล้านคนในปีนี้

“วิกฤติโควิด-19 ทำร้ายธุรกิจสายการบินอย่างสาหัส ทำให้ปีที่แล้วมีสายการบินทั่วโลกจำนวน 41 สายที่ต้องปิดกิจการและเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เฉพาะในไทยมี 3 สาย แต่ก็ยังมองว่าสุดท้ายแล้วธุรกิจสายการบินจะยังคงอยู่ แต่อยู่ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไป ใครคุมต้นทุนได้ดี ก็มีโอกาส เพราะสายการบินเป็นธุรกิจที่มีกำไรมาร์จิ้นต่ำ เราอยู่ได้ด้วย Volume! กัปตันวรเนติกล่าวปิดท้าย