3 กลยุทธ์ ปรับพอร์ต ชิงโอกาสระยะสั้น สร้างกำไรระยะยาว

3 กลยุทธ์ ปรับพอร์ต ชิงโอกาสระยะสั้น สร้างกำไรระยะยาว

ส่อง 3 กลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่ท้าทาย ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้โอกาสในระยะสั้นเพื่อได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างพอร์ตการลงทุนที่ช่วยรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับนักลงทุนแล้ว ปี 2020 เรียกได้ว่าเป็นมากกว่าปีที่ท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่เราได้เห็นโรคระบาดที่สามารถแพร่กระจายทั่วโลก ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ปริมาณมหาศาล ส่งผลให้ดัชนีในตลาดร่วงลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ดีหลังจากที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้ออกมาตรการเพื่อพยุงตลาดและเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นและกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ทำให้ภาพรวมของตลาดขาขึ้นยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์บางประเภทสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

แม้เศรษฐกิจโลกหลังการระบาดของ COVID-19 จะยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ปี 2020 ก็ผ่านไปได้ด้วยดี และในปี 2021 นี้ก็เริ่มต้นได้อย่างสวยงาม จนเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมในการลงทุน (Sector rotation) กลายมาเป็นความท้าทายใหม่ที่มีต่อพอร์ตของนักลงทุน

ถึงแม้เราคาดการณ์ว่าตลาดจะยังคงมีความผันผวนสูงต่อไป แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางพื้นฐานแล้ว เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาด โดยคาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาพคล่องที่สูงเป็นประวัติการณ์ และคำมั่นสัญญาจากธนาคารกลางที่จะไม่เพิกถอนมาตรการสนับสนุนหรือขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้

ในขณะเดียวกันการที่เศรษฐกิจโลกได้ผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 จากการฉีดวัคซีนในหลายประเทศทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตต่อได้ บวกกับมีมาตรการทางการคลังมาสนับสนุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะในสหรัฐฯ จึงคาดว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดย GDP สหรัฐฯน่าจะขยายตัวได้ 6.5% ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่สูงที่สุดในรอบเกือบสี่ทศวรรษ แม้จะมีความเสี่ยงจากประเด็นของเงินเฟ้อ แต่เราเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ไม่ควรส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง แม้ว่าเรื่องเงินเฟ้ออาจเป็นประเด็นที่จะเพิ่มความผันผวนในตลาดก็ตาม

ในภาวะตลาดที่ท้าทายเช่นนี้ เราแนะนำกลยุทธ์การลงทุน 3 ด้าน ดังนี้

  • Build – การสร้างพอร์ตหลัก

นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ตลาดย่อตัวในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพ การลงทุนใน Megatrend ควรเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุน และเมื่อนักลงทุนเลือกประเภทของสินทรัพย์ที่มั่นใจว่าจะถือในระยะยาวแล้ว ควรใช้จังหวะที่ตลาดย่อตัวในการสะสมเพิ่มเติม การซื้อในจุดต่ำสุดอาจจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นสินทรัพย์ที่ซื้อควรเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนสบายใจในการถือ มูลค่าอาจปรับตัวลงหลังจากที่ซื้อในราคาที่คิดว่าต่ำแล้วก็ตาม แต่ในระยะยาวสินทรัพย์เหล่านี้จะสามารถชนะตลาดได้

  • Trade – การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์

นอกจากการสร้างพอร์ตหลัก นักลงทุนยังสามารถลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured products) ซึ่งมีลักษณะ “pay to wait” คือได้รับผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยที่น่าพอใจในช่วงที่รอโอกาสซื้อหุ้นที่เลือกไว้หากตลาดมีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้นักลงทุนยังสามารถลงทุนในเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การเงินที่คุ้มครองเงินต้นบางส่วน (Partially Principle Protected) ซึ่งนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหากราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สามารถจำกัดผลกระทบจากการปรับลดของเงินต้นหากราคาหุ้นปรับตัวลดลงได้

  • Decorrelate - การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ต่ำ

ผลตอบแทนจากการขึ้นลงของตลาดไม่ควรเป็นปัจจัยเดียวที่สร้างกำไรให้พอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำกว่าตลาด (low beta) จะทำให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากความผันผวนต่ำ คู่กันไปกับผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน (uncorrelated returns) เช่น กองทุนที่ใช้กลยุทธ์ market neutral หรือ low beta โดยใช้ทักษะของผู้จัดการกองทุนในการสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าตลาด และอีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ การลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ที่เป็นหลักทรัพย์นอกตลาด เช่น Private Equity หรือ Private Credit ซึ่งมักมีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า เป็นต้น 

การลงทุนในแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้โอกาสในระยะสั้นเพื่อได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างพอร์ตการลงทุนที่ช่วยรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย