กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (5 เม.ย.64)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (5 เม.ย.64)

5-9 เมษายน: ยังได้แรงหนุนจากปัจจัยต่างประเทศ

ยังคง sideways up แต่ระวังความผันผวนจากกระแสข่าวผู้ติดเชื้อในกรุงเทพ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มีนาคม – 2 เมษายน) ดัชนี SET ขยับขึ้นในระดับปานกลางตามที่เราคาดไว้และใกล้เคียงกับเป้าดัชนี 1Q64 ของเราที่ 1,590 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยได้แก่ i) ความคาดหวังด้านบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากแผนการลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐานของสหรัฐมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ปรกอบกับดัชนีภาคการผลิต ISM ของสหรัฐ และดัชนีภาคการผลิต Markit PMI ของ EU ในเดือนมีนาคมที่ออกมาแข็งแกร่ง ii) ความคาดหวังด้านบวกต่อการกลับมาเปิดเศรษฐกิจไทย และแผนการเปิดลงทะเบียนรับวัคซีนเพิ่มเติม iii) มีแรงซื้ออย่างหนาแน่นจากนักลงทุนสถาบันในประเทศในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นความพยายามทำ window dress ก่อนปิดงวด 1Q64 ในขณะเดียวกัน หุ้น large-cap ที่มี free-float ต่ำในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่าง DELTA* ก็วิ่งขึ้นมาแรงถึง 21.7% ในสัปดาห์ที่แล้ว และมีส่วนอย่างมากต่อการปรับขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับในสัปดาห์นี้ (5-9 เมษายน) เรามองว่าทิศทางหลักของดัชนี SET จะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป เนื่องจาก i) ความคาดหวังด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมที่ออกมาเมื่อวันศุกร์แข็งแกร่งมาก โดยมีการจ้างงานในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 900,000 ตำแหน่ง ii) จะมีการเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WE) ของ IMF ในวันอังคาร (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ) โดยก่อนหน้านี้ IMF ส่งสัญญาณว่าจะปรับเพิ่มประมาณการ GDP โลกปี 2564 ขึ้นจากประมาณการในปัจจุบันที่ 5.5% อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าตลาดอาจจะยังผันผวนสูง และดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะมี upside จำกัดในระยะสั้นเนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศ หลังมีรายงานว่าเกิด cluster ของผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ขึ้นในย่าน CBD และย่านท่องเที่ยว/ช้อปปิ้งของกรุงเทพ ถึงแม้เราจะมองว่าสถานการณ์การติดเชื้อน่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งสูงเกินคาดอาจจะทำให้แผนการเปิดประเทศต้องถูกเลื่อนออกไป และส่งผลกระทบกับภาวะตลาด

Upside จากประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในสัปดาห์นี้

(+) ความความหวังด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะช่วยหนุนหุ้นกลุ่ม global cyclical เรามองว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมีนาคมของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาดอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 900,000 ตำแหน่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าดัชนีมหภาคตัวอื่น ๆ ก็น่าจะออกมาดี ซึ่งช่วยหนุนธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและหุ้นกลุ่ม cyclical

(+) IMF น่าจะกำลังเตรียมปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในวันอังคารนี้ IMF จะเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับล่าสุด โดยเราคาดว่า IMF จะปรับเพิ่มประมาณการ GDP โลกปี 2564 จากปัจจุบันที่ 5.5% เนื่องจากโมเมนตั้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเกินคาด เราคิดว่านักลงทุนควรจะติดตามประมาณการ GDP ไทยปี 2564 ของ IMF ด้วย เราคิดว่าประมาณการในปัจจุบันของ IMF ที่ +2.7% ดูอนุรักษ์นิยมเกินไป เมื่อเทียบกับของ ธปท. ที่ 3.0% และของนักเศรษฐศาสตร์ของเราที่ 3.9%

(-) สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 กลับมาเลวร้ายลงอีกครั้ง ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานว่าเกิด cluster ผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ในย่าน CBD และย่านท่องเที่ยว/ช้อปปิ้งในกรุงเทพ อย่างเช่น ทองหล่อและเอกมัย ในขณะที่โรงเรียนนานาชาติเอกชนบางแห่งก็มีรายงานว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ และขณะนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง

เรายังคงเลือกลงทุนหุ้นในธีม Cyclical plays และ re-opening เป็ นหลัก

เนื่องจากตลาดยังได้แรงหนุนจากโมเมนตั้มเศรษฐกิจสหรัฐ ประกอบกับความคาดหวังต่อการกลับมาเปิดเศรษฐกิจไทย และมุมมองของเราว่าสถานการณ์การติดเชื้อในกรุงเทพรอบใหม่นี้จะยังควบคุมได้ เราจึงยังเน้น i) หุ้นกลุ่ม global cyclical อย่างเช่นกลุ่มปิโตรเคมี (IVL*, PTTGC*) ii) หุ้นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ราคาหุ้นยัง laggard อย่างเช่น AOT*, BDMS* และ CPN* และ iii) หุ้นกลุ่ม domestic plays ที่ราคาหุ้นยัง laggard อย่างเช่นกลุ่มผู้บริโภค (CPALL*) a และรับเหมาก่อสร้าง (STEC*) โดยในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคน่าจะได้อานิสงส์จากความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นการบริโภครอบใหม่ของไทย อย่างเช่น คนละครึ่งเฟสที่ 3