“บัตร 2 ใบ” ปมหักพรรคร่วม พปชร.โหนกระแส-แก้ต่อรอง

“บัตร 2 ใบ” ปมหักพรรคร่วม พปชร.โหนกระแส-แก้ต่อรอง

ต้องจับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่อแววจะต้องทะเลาะกันเอง เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อาจเข้าทางพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ขณะที่ภูมิใทยไทย ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กพรรคน้อยย่อมเสียเปรียบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฟากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน”ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค เตรียมร่างแก้ไขรายมาตราเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมยื่นญัตติดังกล่าวในวันที่ 7 เม.ย.นี้

โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว มี 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว หรือจัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

สาเหตุสำคัญที่ พปชร. ตัดสินใจเสนอแก้ระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบนั้น ไพบูลย์ ระบุว่า “เป็นไปตามความเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ของส.ส.ในสภาฯ ที่ต้องการให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ซึ่งระบบดังกล่าวจะเอื้อให้กับพรรคการเมืองใหญ่

โดยเฉพาะ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีจำนวนส.ส.เพิ่มขึ้น ส่วนพรรคขนาดเล็กจะถือว่าเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีการปัดเศษตอนคำนวณคะแนนเหมือนบัตรใบเดียว

ทั้งนี้ รายละเอียดของการใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ ตามร่างแก้ไขของพรรค พปชร.นั้น ระบุว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยเขต ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ ส่วนการคำนวณสัดส่วนผู้ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคพรรคใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ1 ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ถือว่าไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กรณีการเสนอแก้ไขให้ใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ ผู้มีอำนาจอาจได้บทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่มีการใช้บัตรใบเดียว ทำให้พรรคคู่แข่งสำคัญ อย่าง “อนาคตใหม่” ที่เปลี่ยนมาเป็น “ก้าวไกล” ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากเป็นกอบเป็นกำ จากกระแสนิยมถล่มทลาย จนมีบทบาทในทางการเมืองทั้งในและนอกสภา

นอกจากนั้น ระบบเลือกตั้งใบเดียวยังทำให้มีพรรคเล็กจำนวนมาก และมักต่อรองผลประโยชน์ด้วยการอาศัยสถานะความเป็นตัวแปรเรียกร้องอะไรต่างๆ จนสร้างความวุ่นวายในพรรคร่วมรัฐบาลมาโดยตลอด ดังนั้นการใช้ระบบบัตร 2 ใบ จึงต้องการแก้ 2 ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ได้ตามต้องการ

น่าสังเกตว่า ระบบดังกล่าวนอกจากจะเข้าทางพรรคใหญ่ทั้งหลายแล้ว ยังอาจเป็นการเอื้อคนที่เคยอยู่ “พรรคเพื่อไทย” ที่กำลังจะย้ายมาอยู่พลังประชารัฐ หรือพรรคสาขาหรือไม่ เพราะในอีสาน ชาวบ้านมีความผูกพันกับ ส.ส.เป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน ก็ยังรัก“เพื่อไทย” บัตร 2 ใบจึงอาจจะตอบโจทย์

อีกประเด็นสำคัญคือ ข้อได้เปรียบของ พปชร.จากโครงการประชานิยมต่างๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผุดออกมาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มกลายเป็นภาพจำว่าเป็นผลงานของพรรคแกนนำรัฐบาล และนายกฯ ของพรรคคือ พล.อ.ประยุทธ์ 

มาถึงจุดนี้ พปชร.มั่นใจว่า กระแสพรรคและกระแสนายกฯประยุทธ์ ติดตาติดใจประชาชนในระดับปลอดภัยแล้ว โดยชี้วัดได้จากความสำเร็จในสนามเลือกซ่อมที่คว่ำเจ้าของพื้นที่เดิมได้ทั้งหมด แน่นอนว่าเลือกตั้งครั้งหน้า พปชร.จะโหนกระแสประชานิยม และพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อกลับมาอีกครั้ง 

ประเด็นที่ 2 เพิ่มสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน และสิทธิชุมชน จะให้รัฐจัดให้มีทนายความในการต่อสู้คดีกับภาครัฐ

ประเด็นที่ 3 แก้ไข “มาตรา 144” ที่เนื้อหาบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณ และการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับส.ส. และ ส.ว.อย่างรัดกุม ทั้งกำหนดโทษที่อาจไม่สมเหตุสมผล พปชร.ต้องการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยจะเสนอให้กลับไปใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 50

ประเด็นที่ 4 จะเสนอแก้ไข “มาตรา 185” เปิดช่องให้ให้ ส.ส.สามารถเข้าไปติดต่อข้าราชการ และช่วยเหลือความเดือดร้อนให้ประชาชนมากขึ้น

ประเด็นที่ 5 แก้ไข “มาตรา 270” ในบทเฉพาะกาล โดยให้ รัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เข้าไป ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนั้น พปชร. เลือกที่จะไม่ยุ่งกับมาตรา 272 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นนั่งร้าน และกลไกต่อท่ออำนาจที่สำคัญของฝ่ายรัฐบาลในการขึ้นสู่อำนาจภายในช่วงเวลา 5 ปี ที่ ส.ว.ดำรงตำแหน่ง

เมื่อประเมินจากประเด็นรายมาตราที่ พปชร. ต้องการเสนอแก้ไข จุดมุ่งหมายชัดเจนว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเอื้อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อ และทำอะไรได้สะดวก คล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น

ทางด้าน 3 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่เตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดย ภท.-ชทพ. มอบหมายให้พรรค ปชป.เป็นหัวหอกในการเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญ
ปชป.มอบหมายให้ “ถวิล ไพรสณฑ์” เป็นประธานคณะทำงานยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายกฎหมายได้ยกร่างแก้รัฐธรรมนูญ 5 ญัตติ 7 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 256 ในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยปรับเสียงเห็นชอบในวาระ 1 และวาระ 3 โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และตัดการกำหนดเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ออกไป

ขณะเดียวกันยังมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 85 และมาตรา 91 ในเรื่องการลงคะแนนเสียงประชาชน หรือระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมถึงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

รวมถึงยังมีมาตรา 76 ในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่นกลุ่ม ส.ส.ภายประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ละเลยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากพอสมควร จึงแยกญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกฉบับเรื่องการกระจายอำนาจในท้องถิ่นโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ โดยพรรคปชป.สนับสนุนให้มีการตัดอำนาจวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทว่าประเด็นหลักที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ยังเห็นไม่ตรงกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่าจะใช่ระบบเลือกตั้งแบบใดดี เพราะการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว มีประโยชน์กับพรรคขนาดกลางมากกว่า โดยเฉพาะภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา หากปรับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ จำนวน ส.ส.ในสภาอาจได้น้อยลง

ขณะที่ พรรคปชป. ยังมองว่า ยี่ห้อ ปชป. ยังขายได้ แม้ในระดับพื้นที่จะโดน ส.ส.คู่แข่ง แย่งชิง ส.ส.เขต ไปได้มาก แต่หากวัดความนิยมของยี่ห้อ ปชป. ยังพอมีมนต์ขลังอยู่บ้าง
เมื่อ 3 พรรคร่วมรัฐบาลยังเห็นไม่ตรงกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงอาจถูก “แช่แข็ง” ไว้ก่อน เพราะหาก ปชป.เร่งเดินเกมแรง รีบทุบโต๊ะ อาจทำให้ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ตีตัวออกห่าง

หลังจากนี้ ต้องจับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่อแววจะต้องทะเลาะกันเองอีกรอบ เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อาจเข้าทางพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ขณะที่ภูมิใทยไทย ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กพรรคน้อยย่อมเสียเปรียบ
แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเลือกทางใด ย่อมมีทั้งฝั่งได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคที่จะชี้ขาดเรื่องนี้คือพลังประชารัฐ ที่่นาทีนี้ชัดเจนว่าไม่เลือกทาง “วิน-วิน” แน่นอน