‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ ที่31.33บาทต่อดอลลาร์

 ‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ ที่31.33บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ยังคงอ่อนค่าได้จากปริมาณการซื้อขายไม่คึกคักในช่วงเทศกาลหยุดยาวของหลายประเทศและต้องระวังความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ ที่ 31.33 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากปิดตลาด สิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่31.25-31.40 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ที่31.15 - 31.50 บาทต่อดอลลาร์

ฝั่งตลาดการเงิน มีแนวโน้มที่จะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อ ขายอาจไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากเป็นวันหยุด ในเทศกาลอีสเตอร์และเทศกาลเช็งเม้งของหลายประเทศ แต่ก็ต้องระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวตามทิศทางเงินดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์ยังคงมีโอกาสแข็งค่าขึ้น จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หลังจากที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีเกินคาดไปมาก และ IMF ก็อาจจะปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิม

นอกจากนี้ ควรระวังแรงซื้อสกุลต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยธุรกรรมจ่ายปันผลอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้มาก หากเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและราคาทองคำก็ย่อตัวลง

ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้

ขณะที่ ในสัปดาห์นี้ตลาดสหรัฐฯยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นดีกว่าคาดเราคาดว่า IMF อาจปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกดีขึ้น หนุนโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนที่แข็งแกร่งทั้งนี้ ควรติดตามสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ในฝั่งสหรัฐฯ การเร่งแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยตลาดประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการจะคึกคักขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนมีนาคม ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59 จุด จาก 55.3 จุด ในเดือนก่อน

นอกจากนี้ ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นกว่าคาด จากทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่และการเร่งแจกจ่ายวัคซีน จะทำให้ IMF ปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น+5.5%

จากคาดการณ์เดิมในเดือนมกราคม(+5.1%) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าคาด อาจทำให้ IMF แสดงความกังวลว่า นโยบายการเงินสหรัฐฯ อาจเข้มงวดขึ้นเร็วกว่าคาด ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนและเกิดแรงเทขายสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ได้

ส่วนในฝั่งยุโรป แม้ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปอาจดูไม่สดใสนัก ทว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในยุโรป สะท้อนผ่าน Sentix Investor Confidence ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.7 จุด หนุนโดยการปรับเปลี่ยนกลุ่มหุ้นลงทุน (Style & Sector Rotation) ที่จะเน้นลงทุนหุ้นในกลุ่ม Cyclical Value มากขึ้น

ทั้งนี้ ในฝั่งเอเชีย เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการบริการที่จะสามารถขยายตัวในอัตราเร่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) โดย Caixin ในเดือนมีนาคม ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52 จุด อย่างไรก็ดี ประเทศอื่นๆ ในโซนเอเชีย-แปซิฟิก อาจมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งสำหรับประเทศอินเดีย สถานการณ์การระบาดที่ยังคงรุนแรงอยู่และมาพร้อมกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00% ขณะที่ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

และในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนมีนาคม จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 0.21% จากระดับ -1.17% ในเดือนก่อน หนุนโดยราคาน้ำมันดิบที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนมาก ทว่า มาตรการช่วยค่าใช้จ่ายครัวเรือน อาทิ ค่าน้ำค่าไฟ จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินเฟ้อไม่เร่งตัวสูงขึ้นมากนัก