AIRA & AIFUL ตั้งเป้าปล่อยกู้ปีนี้แตะ 7พันล้าน เจาะพนักงานโรงงาน

AIRA & AIFUL ตั้งเป้าปล่อยกู้ปีนี้แตะ 7พันล้าน เจาะพนักงานโรงงาน

“ไอร่า” รุกสินเชื่อบุคคลผ่าน “เอมันนี่” ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ 4 หมื่นราย คาดหนุนยอดปล่อยสินเชื่อคงค้างสิ้นปีแตะ 7 พันล้าน คาดคุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด ปลายปีลดต่ำเหลือ 3% จากปัจจุบันที่ 3.7-3.8%

    นายยูจิ ฟุคาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด “เอมันนี่” (A money) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะหันมารุก สินเชื่อบุคคลมากขึ้น ผ่านบัตรเอมันนี่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยหนุนในการปล่อยสินเชื่อและเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้นในปีนี้

     โดยเฉพาะการนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ที่เชื่อมต่อกับ National Digital ID (NDID) ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลข้ามหน่วยงาน เข้ามาช่วยพิสูจน์ตัวตันเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าที่มีความสนใจเข้ามาสมัครบัตรเอมันนี่

     ทั้งนี้  บริษัทได้ตั้งเป้าในการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 40,000 ราย จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 480,000 ราย ซึ่งตอนนี้มีลูกค้าใหม่เข้ามาแล้วในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ที่ราว 7,000-8,000 ราย

     โดยในกลุ่มนี้ มีการใช้บริการ e-KYC เพื่อสมัครบัตรและพิสูจน์ตัวตนแล้ว 3,000 ราย ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อปีนี้ บริษัทคาดการณ์สินเชื่อบุคคลคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มเป็น 7,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

     อย่างไรก็ตาม การเข้ามารุกสินเชื่อบุคคลมากขึ้น บริษัทไม่ได้กังวลเรื่อง ความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เนื่องจาก การปล่อยสินเชื่อปัจจุบัน อยู่ภายใต้การระมัดระวัง อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เอ็นพีแอลในช่วงที่ผ่านมาของบริษัทไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มที่ลดลง

     โดยล่าสุดเอ็นพีแอลปรับลดมาอยู่ที่ 3.7% ซึ่งลดลง หากเทียบกับปี 2563 ที่อยู่ระดับ 5.3% ซึ่งสะท้อนว่า บริษัทสามารถบริหารจัดการหนี้เสียได้ระดับที่ดี อีกทั้งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับเครดิตสกอริ่ง เพื่อทำให้การประมวลผลการปล่อยสินเชื่อ และการดูแลความเสี่ยงดีขึ้น ส่งผลให้พอร์ตโดยรวมมีคุณภาพที่ดี

     ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ เช่นการลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 2.5% จากขั้นต่ำที่ 3% ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด ซึ่งเหล่านี้สามารถช่วยลดภาระลูกหนี้ได้.  

    ซึ่งส่งผลให้การเกิดหนี้เสียในระบบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากดูฐานลูกค้าบริษัท ที่เข้าสู่โครงการการช่วยเหลือ ปัจจุบันกลับมาผ่อนชำระปกติได้แล้วราว 70%

    ดังนั้นคาดว่า แนวโน้มหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลปีนี้ น่าจะลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3% ได้ ณ ปลายปี 2564 นี้

    “เราไม่ได้กังวล แม้ในตลาดจะมีคนเข้ามาแข่งขันตลาดนี้มากขึ้น เพราะเชื่อเราสามารถแข่งขันได้ ส่วนโฟกัสเราในระยะข้างหน้า จะหันไปจับกลุ่มพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น”นายยูจิ กล่าว