กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุจาก 'พายุฤดูร้อน'

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุจาก 'พายุฤดูร้อน'

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุจากพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า อาจทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

วันนี้ (3 เมษายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 3-6 เมษายนนี้ ประเทศไทยจะมี "พายุฤดูร้อน" เกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นด้วย กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายควรอยู่ในที่ปลอดภัย เช่น ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรง ควรเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยาที่ทานประจำและอุปกรณ์ให้แสงสว่างให้พร้อม

นอกจากนี้ ขอให้ระวังภัยสุขภาพที่มากับลมพายุ เช่น การบาดเจ็บจากลมพายุ โดยให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่เข้าใกล้สิ่งที่หักพังง่าย เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ รวมถึงระวังอุบัติเหตุจากการจราจร การจมน้ำ และแมลงหรือสัตว์ที่มีพิษกัดต่อยด้วย อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

สำหรับการเตรียมรับมือในระหว่างมีพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า ดังนี้


1.ควรหลีกเลี่ยงการอยู่พื้นที่กลางแจ้งในขณะฝนตกฟ้าคะนอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่

2.ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า และไม่ควรอยู่ใกล้ประตูหน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ ในขณะฟ้าร้องฟ้าผ่า

3.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุเพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

นอกจากนี้ ควรตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจร กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถ ควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูก "ฟ้าผ่า" สูง ที่สำคัญอย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเห็นผู้ถูก "ฟ้าผ่า" หรือผู้ประสบอุบัติเหตุ ควรให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุและสถานที่เกิดเหตุให้ทราบ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422