กรมอนามัย แนะ 'เที่ยวเหนือ' เช็คค่าฝุ่น ลดเสี่ยง PM 2.5

กรมอนามัย แนะ 'เที่ยวเหนือ' เช็คค่าฝุ่น ลดเสี่ยง PM 2.5

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ลดความเสี่ยงผลกระทบจาก ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน แนะสวมหน้ากากป้องกัน และเช็คค่าฝุ่นทุกครั้ง พร้อมดูแลสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในภาพรวมระหว่าง 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 มีแนวโน้มเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบเกินค่ามาตรฐาน ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าระหว่าง 15 - 402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงสุดที่ตำบล เวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 3 - 5 เมษายน 2564 พื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ มีแนวโน้ม "ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน" อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) เนื่องจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศ ประกอบกับสภาพอากาศ ที่ค่อนข้างนิ่ง ความเร็วลมลดลง แต่หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 4 - 6 เมษายน 2564 บางพื้นที่จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นทำให้ปริมาณ "ฝุ่นละออง PM 2.5" มีแนวโน้มสะสมลดลงทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) ถึงปานกลาง (สีเหลือง) ได้

161742309151


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นักท่องเที่ยวและประชาชนต้องดูแลป้องกันตนเองอยู่เสมอ ควรตรวจเช็คค่าฝุ่น และติดตามข่าวสารทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เช่น Air4Thai หรือ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” รวมทั้งลด เลี่ยง งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง โดยเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือกิจกรรมของผู้สวมใส่ มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า และหน้ากากต้องได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ต้องครอบจมูกและปาก นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ และดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที


“ทั้งนี้ ข้อมูลอนามัยโพลเกี่ยวกับผลกระทบจาก "ฝุ่นละออง PM 2.5" ระหว่างวันที่ 1 - 31 มีนาคม 2564 พบว่า ร้อยละของผู้ที่มีอาการจากการรับสัมผัส PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยอาการที่พบ มากที่สุดยังคงเป็นอาการมีน้ำมูก ร้อยละ 17.67 รองลงมาคือ แสบจมูก ร้อยละ 15.07 อาการแสบตา/คันตา/ตาแดง ร้อยละ 14.18 อีกทั้งยังพบว่าประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถึงร้อยละ 78.51 และมีพฤติกรรมในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นถึงร้อยละ 82.07” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว