คนตุลา 2564 เปิดตัวกลุ่ม OctDem จับตาเดินเกมเพื่อ 'พี่โทนี่'

คนตุลา 2564 เปิดตัวกลุ่ม OctDem จับตาเดินเกมเพื่อ 'พี่โทนี่'

การกลับมาของ"คนเดือนตุลา" ในนามกลุ่ม OctDem อาจถูกระแวงว่า จะเป็นเกมเพื่อ “พี่โทนี่” และกลายเป็นว่า 20-30 ปีผ่านไปคนรุ่นนี้ก็ยังทะเลาะกันไม่จบ

“นกสีเหลือง นกสีแดง นกแสงตะวัน
พิราบขาวฝ่าฟันกันผกผิน
จนมาถึงยุควิหคนกเพนกวิน
การต่อสู้ยังไม่สิ้นบินต่อไป”

บทกวีของ วิสา คัญทัพ อดีตแกนนำชมรมคนรุ่นใหม่ รามคำแหง ส่งสารข้ามฟ้าจากเยอรมันมาถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เมืองไทย

“วิสา” ป่วยไข้มาหลายปี อยากกลับบ้านเต็มที อายุอานามก็ล่วงผ่านห้วงสนธยาแล้ว แต่ไฟฝันยังไม่มอดดับ จึงฝากกวีบทนี้เป็นแรงใจให้เด็กๆ รุ่นลูกรุ่นหลาน
และเป็นอีกครั้งหนึ่ง อดีตนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย วัย 60-70 ปี นัดพบกันที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.00 น. วันศุกร์ที่ 2 เม.ย.2564

หัวขบวนนำโดย เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตหัวหน้าพรรคสัตยาเคราะห์ รามคำแหง พลากร จิรโสภณ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ฯลฯ นัดแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่ม OctDem (Octoberists for Democracy)

หลังเสร็จสิ้นการอ่านแถลงการณ์ กลุ่ม OctDEM นำหนังสือไปยื่นต่อประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมืองได้ทุกคน โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรมนิติรัฐอันเป็นสากล

กลุ่ม OctDem คือนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วง 14 ต.ค.2516 ถึง 6 ต.ค.2519 เมื่อถึงวันนี้ พวกเขาอายุก็เลยหลัก 60 มาหมดแล้ว

ก่อนหน้านั้น มีบางคนเสนอว่า “คนเดือนตุลา” ควรได้เวลาพักผ่อนหลับนอน และภารกิจการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ แต่คนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งก็นอนไม่หลับ
บางคนนอนตาค้าง ข่มตาหลับไม่ลง เมื่อเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ระหว่างการดำเนินคดี จึงลุกขึ้นมาสุมหัวคิด และหาทางช่วยเหลือเด็กๆ

“หลายคนยังเป็นตุลาธรรม ผู้รักความเป็นธรรม ไม่ใช่สลิ่มกิมกลวง เมื่อสังคมยังไม่มีความเป็นธรรม เมื่อเด็ก ๆ และประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าแล้วถูกอำนาจรัฐเผด็จการทำร้ายอย่างอยุติธรรม ถึงใครจะไล่คนรุ่นเดือนตุลาไปนอน คนรุ่นเดือนตุลาหลายคนก็นอนไม่หลับ..”

กว่าที่จะมีคำว่า “คนเดือนตุลา” และกว่าที่จะไล่ให้เข้าไปนอน ลองย้อนไปดูเส้นทางของพวกเขา จากปี 2519 จนถึงปัจจุบัน

ปี 2525-2531 เป็นห้วงเวลาของความผิดหวัง และหวาดกลัว ทุกคนกลับออกมาจากป่าเขา ถอดเสื้อคลุมสังคมนิยม เร้นกายหายไปในสังคมทุนนิยม ไปเรียนหนังสือ เรียนต่อต่างประเทศ รับราชการ ทำธุรกิจ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน มีคนรุ่น 14 ตุลา จำนวนไม่น้อยที่ออกแสวงหาครั้งที่ 2 ไปทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ตามแนวคิด “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”

ปี 2531-2538 สมัยรัฐบาลชาติชาย อดีตนักกิจกรรมยุค 14 ตุลา ได้เข้ามาทำงานการเมืองกันมากขึ้น และมีหลายคนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ พวกเขาจึงนัดพบกันในนาม “เพื่อนพ้องน้องพี่”

พวกเขาเริ่มแสดงตัว และไม่กลัวว่า สังคมจะมองคนรุ่นนี้ด้วยสายตาอย่างไร เนื่องจากคนรุ่น 14 ตุลา ได้เป็น ส.ส.หลายคน และเป็นดาวรุ่งประจำสภาฯ

ปี 2534 ยุค รสช. มีการร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง “คนรุ่น 14 ตุลา” จึงเปิดประชุมขยายวงที่โรงแรมแถวสามย่าน เพื่อระดมความคิดเรื่องจัดตั้งพรรคเชิงอุดมการณ์ 14 ตุลา

ในที่สุด พวกเขาก็ได้จัดตั้ง “พรรคประชาธรรม” ขึ้นมา แต่ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และอีก 4-5 ปีถัดมา ผู้ก่อการพรรคประชาธรรม ก็ได้มาช่วยกันวางโครงสร้าง “พรรคไทยรักไทย” ให้กับมหาเศรษฐี “ทักษิณ ชินวัตร”
ปี 2544-2548 สมัยรัฐบาลทักษิณ น่าจะเป็นยุคทองของคนรุ่นนี้ ป้ายยี่ห้อ “คนเดือนตุลา” ขายดิบขายดี และมาพร้อมกับ “โรงเหล้าเพื่อชีวิต”

หลังรัฐประหาร 2549 คนเดือนตุลาแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หลายคนไปขึ้นเวทีโค่น “ระบอบทักษิณ” และอีกหลายคนเลือกที่จะอยู่ข้าง “คนรักทักษิณ” คนเดือนตุลาอีกส่วนหนึ่ง เริ่มหันกลับไปหาอุดมการณ์เดิม แยกตัวออกมาเคลื่อนไหวมวลชนโดยอิสระ

2 ทศวรรษแห่งความขัดแย้ง คำว่า “คนเดือนตุลา” กลายเป็นป้ายยี่ห้อ ที่ถูกแบ่งแยกไปตามความคิดความเชื่อทางการเมือง

การกลับมาของคนเดือนตุลา ในนาม OctDem ก็เป็นความพยายามที่จะรวบรวมเพื่อนพ้องน้องพี่จากทุกพรรคและทุกสี ให้ร่วมคิดร่วมสร้างไทยใหม่

ถึงกระนั้น คนเดือนตุลาบางคนแอบระแวงว่า OctDem หรือตุลาธรรม จะเป็นเกมเพื่อ “พี่โทนี่” และกลายเป็นว่า 20-30 ปีผ่านไป คนรุ่นนี้ก็ยังทะเลาะกันไม่จบ