'สุพัฒนพงษ์' ต่อยอดปล่อยกู้ระหว่างประชาชนผ่านแอพเป๋าตัง

'สุพัฒนพงษ์' ต่อยอดปล่อยกู้ระหว่างประชาชนผ่านแอพเป๋าตัง

“สุพัฒนพงษ์” ผุดไอเดียต่อยอดอีเพย์เมนต์หลังโครงการช่วยเหลือทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ผลดี เล็งให้ประชาชนปล่อยกู้กันเองผ่านช่องทางแอพเป๋าตัง ถอดแบบอะลีบาบา เล็งสร้างแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์เชื่อโอกาสในการพัฒนาสตาร์ทอัพของประเทศยังเปิดกว้าง 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า จากการช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบอีเพย์เมนต์ที่รัฐบาลโอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังหลายโครงการในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเรียนรู้การใช้จ่ายเงินผ่านระบบอีเพย์เมนต์ได้รวดเร็วโดยความสำเร็จในเรื่องนี้รวมทั้งข้อมูลที่รัฐบาลได้รับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลกำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

ในส่วนหนึ่งที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่คือในอนาคตอาจให้ประชาชนสามารถปล่อยกู้ระหว่างกันเองผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และประชาชนที่มีเงินออมเพียงพอที่จะสามารถปล่อยกู้และรับความเสี่ยงได้ก็ใช้ช่องทางนี้ปล่อยเงินกู้ได้ตามกฎหมายที่รัฐบาลกำหนดซึ่งรูปแบบนี้ในประเทศจีนมีการดำเนินการโดยบริษัท Alibaba มีบริษัทลูกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์เครดิตของผู้กู้เงินทำให้การปล่อยกู้เงินผ่านระบบแอพพลิเคชั่นสามารถทำได้ 

สำหรับกลไกที่จะมารองรับของภาครัฐอาจจะมีหน่วยงานกลางอาจจะเป็นรูปแบบสถาบันขึ้นมาช่วยรับประกันการปล่อยเงินกู้บางส่วน โดยประชาชนที่มาปล่อยกู้ผ่านช่องทางนี้จะต้องรับความเสี่ยงเองบางส่วนแต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงตามอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 

“เรื่องนี้มีทีมที่ช่วยดูอยู่ว่าในเรื่องการต่อยอดจากโครงการต่างๆที่เป็นลักษณะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศจะเป็นอย่างไร ซึ่งจุดหนึ่งเรากำลังดูเรื่องความเป็นไปได้ของการกู้ยืมเงินกันระหว่างประชาชน ที่มีระบบเข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยง หากสามารถทำได้ก็ลดข้อจำกัดของการเข้าถึงเงินทุนของประชาชนและเอสเอ็มอี ขณะที่ในส่วนที่่ทำไปได้คืบหน้ามากคือการทำแพลตฟอร์มในเรื่องของการให้ประชาชนเข้ามาค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็จะผ่านแอพฯ เป๋าตังอีกเช่นกัน อนาคตแอพนี้จะต่อยอดไปสู่อะไรได้อีกมาก” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องของข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่จากการใช้นโยบายต่างๆในการส่งเสริมการใช้จ่ายในระบบอีเพย์เมนต์จะเปิดให้ผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพเข้ามานำเอาข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นข้อมูลของภาครัฐที่ประชาชนให้ความยินยอมคงจะไม่สามารถให้เอกชนใช้ประโยชน์ได้โดยตรงแต่ภาครัฐจะนำเอาข้อมูลในส่วนนี้มาพัฒนาให้เกิดการบริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนซึ่งภาคเอกชนที่เป็นสตาร์ทอัพก็สามารถพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมได้ ซึ่งฐานข้อมูลลักษณะนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพในไทยอย่างแน่นอน 

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนเรื่องของศูนย์กลางฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) ในอาเซียนซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนได้ เนื่องจากเรามีทั้งพื้นที่และไฟฟ้าเพียงพอที่จะรับการลงทุนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางส่วนโดยศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ว่าสามารถดูงการลงทุนในเรื่องนี้ได้อย่างไร เช่นกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลทางธุรกิจ และในเรื่องของสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีก็ต้องสามารถที่จะแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนในส่วนนี้ได้ด้วย